สท. ยูนิเซฟ ผนึกองค์กรภาคีและนักวิชาการ ผลักดันกฏหมายบังคับให้เกลือผสมไอโอดีนเพื่อป้องกันเด็กไทยขาดไอโอดีนอย่างยั่งยืน

พุธ ๑๕ กันยายน ๒๐๑๐ ๑๘:๒๔
ยกกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาอย่าง บูรณาการ พร้อมเรียกร้องให้แก้กฏหมายให้ชัดเจนขึ้น และให้บังคับใช้อย่างเคร่งครัด

สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ (สท.) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประเทศไทย องค์กรภาคี ภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการ เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพในการเร่งส่งเสริมการบริโภคไอโอดีนอย่างเพียงพอในเด็กและสตรีโดยเฉพาะที่มีครรภ์ เพื่อป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อระดับการพัฒนาสติปัญญา (IQ) และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเอ๋อและพัฒนาการที่ผิดปกติของสมอง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการในคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผลของการขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์มีผลต่อเด็กตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ เพราะในช่วง 12 สัปดาห์แรก ทารกไม่สามารถสร้างไธรอยด์ฮอร์โมนได้เองต้องรับจากแม่ หากแม่ขาดไอโอดีนอย่างรุนแรงตั้งแต่ปฏิสนธิ ทารกก็จะพร่องไธรอยด์ ฮอร์โมน และหากขาดไธรอยด์ฮอร์โมนอย่างรุนแรงใน 12 สัปดาห์แรก เด็กจะแท้งและเสียชีวิต แต่หากรอดชีวิตก็จะมีโอกาสเป็นโรคเอ๋อ ไอคิวต่ำถึงระดับ 30-40 ได้ และอาจหูหนวก เป็นใบ้ บางคนถึงกับเดินไม่ได้ พิการอย่างถาวร

“ด้วยเหตุนี้ เราจำเป็นจะต้องมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก โดยเสนอ 4 มาตรการ คือ 1.นโยบายการเมืองต้องให้ความสนใจกับการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง 2.ต้องติดตามผลเป็นระยะ เพื่อประเมินประสิทธิภาพ 3.ต้องเสริมไอโอดีนในพาหะที่เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ และ 4.ต้องให้ความรู้กับประชาชน ปรับทัศนคติใหม่ เน้นสร้างความเข้าใจว่า ปัญหาการขาดสารไอโอดีนมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการของสมอง” ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ กล่าว

แพทย์หญิงแสงโสม สีนะวัฒน์ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านโภชนาการ) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “การรณรงค์ให้ประชาชนได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพออย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญ การออกกฏหมายบังคับให้เกลือผสมไอโอดีนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต่อเนื่องได้ แต่การบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจังก็สำคัญเช่นกัน อีกทั้งยังต้องส่งเสริมและสนับสนุนเครื่องมือในการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก การควบคุมคุณภาพในโรงงาน เพราะมีปัญหามาตลอด เนื่องจากโรงงานผลิตเกลือมีหลายขนาดและส่วนใหญ่เป็นรายย่อย อีกประเด็นที่สำคัญคือความร่วมมือของชุมชนที่จะต้องร่วมกันคิดหาทางแก้ปัญหานี้ และต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันโฆษณาประชาสัมพันธ์ เฝ้าระวังและส่งเสริมให้บริโภคเกลือผสมไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง”

นางสาวนฤมล ฉัตรสง่า นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขประกาศเป็นนโยบายอย่างชัดเจนและจริงจัง ที่จะขจัดปัญหานี้ให้หมดไปจากคนไทย ซึ่ง อย.ได้ระดมสรรพกำลังเพื่อสนองนโยบายในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยได้ปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 153 (พ.ศ.2537) เรื่องเกลือบริโภค ให้มีความครอบคลุม เข้มงวดขึ้น โดยกำหนดให้เกลือทุกชนิดทั้งที่บริโภคและที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารจะต้องเป็นเกลือเสริมไอโอดีน โดยให้มีปริมาณไอโอดีนที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค และการผลิตต้องมีระบบประกันคุณภาพ ฉลากต้องมีข้อความว่า “เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน” เป็นต้น ซึ่งผู้ผลิตและผู้นำเข้าเกลือบริโภคต้องขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าและจดทะเบียนอาหาร

อย.ได้ประชุมหารือกับชมรม สมาคม และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร และได้ข้อสรุปว่า อุตสาหกรรมอาหารทุกชนิดที่ใช้เกลือเป็นวัตถุดิบหรือส่วนผสมทั้งผลิตและนำเข้า โดยเฉพาะน้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว เครื่องปรุงรส อาหารกึ่งสำเร็จรูป และขนบกรุบกรอบ ต้องใช้เกลือเสริมไอโอดีนเป็นวัตถุดิบในการผลิต ทั้งนี้ เมื่อออกกฎหมายรวมทั้งมาตรการดังกล่าว จะให้ความมั่นใจได้ว่าคนไทย 65 ล้านคนมีโอกาสได้รับสารไอโอดีนได้อย่างพอเพียง

ด้านนายสมโภชน์ ธนพิรุณพร ประธานชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีน ภาคกลาง กล่าวเห็นด้วยกับมาตรการข้างต้น ที่มีการเรียกร้องให้มีกฏหมายบังคับให้มีการผสมไอโอดีนในเกลือ เพราะจะทำให้ผู้ผลิตเพิ่มมาตรฐานในการผลิตให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้อยากเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในด้านต้นทุนและเครื่องมือในการผลิต และสนับสนุนด้านเทคโนโลยีเพื่อให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น เพราะส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย หากไม่ได้รับความช่วยเหลือก็อาจจะถูกรายใหญ่ที่มีทุนมากกว่าผูกขาดตลาดได้

นางสายสุรี จุติกุล อนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กตามมาตรฐานรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กล่าวในตอนท้ายว่า ทางคณะอนุกรรมการฯ จะมีการจัดทำรายงานสรุปการเสวนารายงานต่อนายกรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดการบูรณาการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพในการรณรงค์แก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดยจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ เฝ้าติดตาม ประเมินผล และทบทวนผลการดำเนินงานเป็นระยะ เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่สุด

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์

ชลธิชา อึงคนึงเดชา / ปาณิสรา ปาลาศ โทร. 0-2610-2380, 0-2610-2370

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version