โดยกระทรวงไอซีที ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลให้รับผิดชอบเกี่ยวกับงานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและการแจ้งเตือนภัย ด้วยการนำระบบข้อมูลสารสนเทศมาใช้ในการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัย พัฒนาระบบฐานข้อมูล ติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัย เพื่อดำเนินการแจ้งเตือนภัยและกระจายความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดความสูญเสียของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเตรียมความพร้อมแห่งชาติ อันเป็นแผนหลักของชาติในการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร และมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ได้กำหนดให้กระทรวงฯ รับผิดชอบแผนปฏิบัติการแบบบูรณาการระดับกระทรวงด้านระบบสื่อสารโทรคมนาคม และด้านแจ้งเตือนภัย
ดังนั้น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กระทรวงไอซีที ซึ่งมีฐานะเป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการบริหารระบบการ เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จึงได้ดำเนินการฝึกซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันเป็นประจำทุกปี โดยการจัดการฝึกซ้อมฯ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการฝึกซ้อมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสัญญาณเตือนภัยและการแจ้งเตือนภัย รวมทั้งเพื่อให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ในพื้นที่ และประชาชนทั่วประเทศมีความรู้ความเข้าใจในการเตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญเหตุภัยพิบัติสึนามิ ตลอดจนมีความรู้เกี่ยวกับพื้นที่จุดปลอดภัยจากคลื่นสึนามิและสามารถอพยพไปสู่พื้นที่ ได้อย่างปลอดภัยและทันท่วงที
สำหรับการจัดการฝึกซ้อมระบบเตือนภัยเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาภัยจากสึนามิในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันปีนี้ ได้กำหนดให้บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา เป็นจังหวัดหลักในการฝึกซ้อม โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีนายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้าร่วมในการฝึกซ้อมดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ยังได้มีการใช้สถานที่ของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เป็นศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจด้านการเตือนภัยและการสื่อสาร เพื่อทดสอบการแจ้งเตือนภัยและฝึกซ้อมแผนอพยพหลบภัย จากสถานการณ์สมมุติกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวในทะเลบริเวณหมู่เกาะสุมาตรา และทำให้เกิดภัยพิบัติคลื่นสึนามิ ณ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
“การจัดการฝึกซ้อมฯ ครั้งนี้ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กร ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่เพื่อร่วมกันฝึกซ้อม จึงต้องนำเอาการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตที่ต้องระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนมาใช้ รวมทั้ง การนำเครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชนเข้ามีส่วนช่วยเหลือทางราชการ ตลอดจนนำระบบการบัญชาการเหตุการณ์ หรือ Incident Command System : ICS มาใช้ในการฝึกซ้อมครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านระบบการเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า และเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ” นายวิบูลย์ทัต กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT