ปตท./วว. หน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา ผนึกกำลังวิจัยการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายขนาดเล็ก

พฤหัส ๑๖ กันยายน ๒๐๑๐ ๑๓:๐๐
นายณัฐชาติ จารุจินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้แทนจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายวิจัยพลังงานจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2553 ณ ห้องประชุมคณะกรรมการ ปตท. ชั้น 23 อาคาร ปตท.สำนักงานใหญ่

นายณัฐชาติ จารุจินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวชี้แจงว่า เป็นที่ยอมรับในวงการวิจัยทั่วโลกว่า สาหร่ายขนาดเล็กเป็นทรัพยากรชีวภาพที่มีศักยภาพสูงในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากมีสารประกอบจำพวกน้ำมันอยู่ในปริมาณสูง อีกทั้งเติบโตได้ นอกจากนี้สาหร่ายดังกล่าวยังสามารถเลี้ยงได้ในบ่อกลางแจ้ง ให้ผลผลิตสูง ภายใต้สภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ทั้งยังช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามการวิจัยพลังงานจากสาหร่ายทั่วโลกเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น เนื่องจากยังไม่มีเทคโนโลยีที่ชัดเจนและมีต้นทุนการผลิตสูง ในปัจจุบันจึงยังไม่สามารถขยายการผลิตไปสู่ระดับอุตสาหกรรมได้

“ปตท. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า หน่วยงานการศึกษาและสถาบันวิจัยของภาครัฐต่างดำเนินงานวิจัยด้านสาหร่ายอยู่แล้ว หาก ปตท. ร่วมเป็นแกนนำในการสร้างเครือข่ายงานวิจัย โดยกำหนดเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจนจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความคิดเห็นที่หลากหลายมากขึ้น อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวมของประเทศ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือเครือข่ายวิจัยพลังงานจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย หรือ คพท. ในครั้งนี้” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าว

นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. ในฐานะหน่วยงานของประเทศ ที่มีผลงานวิจัยพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนการให้บริการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาหร่ายขนาดเล็กแก่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 25 ปี มีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ คพท. ในการดำเนินงานของ วว. ภายใต้เครือข่ายนี้เป็นการวิจัยพัฒนาการผลิตน้ำมันจากสาหร่าย Botryococcus brauniiซึ่งเป็นสาหร่ายสีเขียวขนาดเล็กที่ทั่วโลกยอมรับว่า มีการสะสมน้ำมันในปริมาณสูงสุด รวมถึงการวิจัยพัฒนาการผลิตน้ำมันจากสาหร่าย ที่เจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงหรือสภาพการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีความเข้มข้นสูง

“ด้วยเล็งเห็นศักยภาพและความสำคัญของสาหร่ายขนาดเล็ก วว. จึงเป็นหน่วยงานที่มีการดำเนินงานในด้านนี้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดตั้งคลังเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่าย ซึ่งในปัจจุบันมีการรวบรวมสายพันธุ์สาหร่ายขนาดเล็กจากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 1,000 สายพันธุ์ มีห้องปฏบัติการและเครื่องมือที่ทันสมัย และที่สำคัญ วว. มีระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายระดับขยายกลางแจ้งต้นแบบ ตั้งแต่ขนาด 100 — 10,000 ลิตร ด้วยความพร้อมของ วว. ทั้งในเรื่องของสถานที่ ประสบการณ์ รวมทั้งการสนับสนุนจากองค์กร และความร่วมมืออันดีที่จะเกิดขึ้นภายใต้เครือข่ายนี้ จะเป็นความสำเร็จของประเทศไทยที่ทุกหน่วยงานสมาชิกของเครือข่ายจะมีส่วนร่วมภูมิใจในความสำเร็จด้วยกัน” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

อนึ่ง เครือข่ายวิจัยพลังงานจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย มีระยะเวลาดำเนินงาน 7 ปี (พ.ศ.2551-2558) ทั้งนี้ ปตท. สนับสนุนทุนวิจัยจำนวน 140 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเชิงพาณิชย์เพื่อให้ต้นทุนของน้ำมันจากสาหร่ายน้อยกว่า 150 เหรียญต่อบาเรล และเป้าหมายเชิงเทคนิคให้สาหร่ายมีผลผลิตสูงกว่า 30 กรัมต่อตารางเมตต่อวัน และมีปริมาณน้ำมันประมาณ 40% หรือสามารถคิดเป็นผลผลิตน้ำมันสาหร่ายประมาณ 6 ตันต่อน้ำมันต่อไร่ต่อปี ไม่รวมผลิตภัณฑ์พลอยได้ จำพวกโปรตีนคุณภาพสูง สารสกัดจำพวกกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย

สำหรับขอบเขตงานวิจัย มีดังนี้ 1. สำรวจ เก็บรวมรวมสายพันธ์สาหร่ายขนาดเล็กของประเทศไทยที่เหมาะสมต่อการผลิตเป็นพลังงานชีวมวล 2. วิจัยพัฒนากระบวนการเพาะเลี้ยง เก็บเกี่ยว และสกัดน้ำมันจากสาหร่ายขนาดเล็กสายพันธุ์คัดเลือก ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการ โรงงานต้นแบบ รวมถึงการผลิตเชิงพาณิชย์ 3. ศึกษาคุณสมบัติและพัฒนาคุณภาพ/ประสิทธิภาพของน้ำมันจากสาหร่ายขนาดเล็กให้เหมาะสมต่อการจำหน่ายเชิงพาณิชย์และการใช้งาน 4. ประเมินวัฏจักรชีวิตของการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายขนาดเล็ก 5. ศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ของการผลิตน้ำมันจากสาหร่ายขนาดเล็กเชิงพาณิชย์ และ 6.ร่วมกันจัดหาและสนับสนุนทรัพยากรสำหรับใช้ในการดำเนินงาน

ผลการดำเนินงานของเครือข่ายฯ ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทีมงานได้คัดเลือกสาหร่ายกว่า 100 สายพันธุ์ โดยได้สายพันธุ์คัดเลือกสำหรับพัฒนาต่อ 6 สายพันธุ์ เป็นสาหร่ายน้ำเค็ม 2 สายพันธุ์ สาหร่ายน้ำจืด 2 สายพันธุ์ และสาหร่ายน้ำจืดที่สามารถตรึงไนโตรเจนได้ 2 สายพันธุ์ โดยมีสัดส่วนน้ำมันสูงประมาณ 20-40% และมีอัตราการเติบโตประมาณ 10-15 กรัมต่อตารางเมตรต่อวัน หรือสามารถคิดเป็นผลผลิตน้ำมันสาหร่ายประมาณ 1-3 ตันต่อน้ำมันต่อไร่ นอกจากนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างระบบเพื่อติดตั้งที่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. โดยเป็นระบบขนาด 600 ลิตร จำนวน 4 ระบบ และภายใต้โครงการยังประกอบไปด้วยระบบเปิดขนาด 5,000 ลิตร และ 10,000 ลิตรของ วว. ซึ่งจะสามารถทดสอบสายพันธุ์ต่างๆ ในระดับนำร่องได้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ