นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านประเทศไทย ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่ง
ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำในพื้นที่ ๖ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น้ำป่าไหลหลากกัดเซาะถนนสายแม่สรวย-วาวี บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๑๓ — ๑๔ บ้านทุ่งพร้าว หมู่ที่ ๘ ตำบลวารี อำเภอแม่สรวย เป็นระยะทาง ๑๐๐ เมตร ทำให้รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งออกซ่อมแซมถนนในเบื้องต้นแล้ว และได้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงรายในพื้นที่ ๓ ตำบล ได้แก่ ตำบลนางแล ตำบลท่าสุด และตำบลบ้านคู่ ราษฎรเดือดร้อน ๖,๔๘๖ ครัวเรือน ๑๖,๓๙๐ คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย ๑,๐๐๐ ไร่ จังหวัดน่าน น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอเมือง ๔ ตำบล สถานการณ์อุทกภัยเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
และแม่น้ำน่านไหลเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรในอำเภอภูเพียง ๔ ตำบล ได้แก่ ตำบลฝายแก้ว ตำบลม่วงติ๊ด ตำบลท่าน้าว และตำบลนาปัง และในเขตเทศบาลเมืองน่านในพื้นที่ ๒ ชุมชน ได้แก่ ชุมชนภูมินทร์ท่าลี่ และชุมชนพวงพะยอม จังหวัดพิจิตร น้ำในแม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ๔ อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามง่าม ๔ ตำบล อำเภอโพธิ์ประทับช้าง ๔ ตำบล อำเภอบึงนาราง ๑ ตำบล และอำเภอโพทะเล ๖ ตำบล ระดับน้ำอยู่ในระดับทรงตัว จังหวัดนครสวรรค์ น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มการเกษตรของอำเภอชุมแสง ๒ ตำบล ได้แก่ ตำบลบางเคียน และตำบลโคกหม้อ พื้นที่การเกษตรเสียหาย ๒,๕๓๘ ไร่ ระดับน้ำอยู่ในระดับทรงตัว จังหวัดชัยนาท น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ ๔ อำเภอ ๙ ตำบล ๙๑ หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน ๘,๐๗๖ ครัวเรือน ๑๘,๐๘๔ คน ได้แก่ อำเภอเมืองชัยนาท ๓ ตำบล อำเภอเนินขาม ๓ ตำบล อำเภอหันคา ๒ ตำบล และอำเภอสรรคบุรี ๑ ตำบล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี
แม่น้ำน้อยมีปริมาณสูงขึ้น ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มการเกษตรใน ๕ อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร
อำเภอมหาราช อำเภอผักไห่ และอำเภอบางบาล ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๗ สกลนคร เขต ๙ พิษณุโลก เขต ๑๐ลำปาง และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัยได้ประสานความร่วมมือกับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย จัดส่งรถผลิตน้ำ ๒ คัน รถบรรทุกน้ำ ๕ คัน สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งเรือท้องแบน ๑๒ ลำ สำหรับใช้ในการอพยพราษฎร และขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของออกจากพื้นที่ประสบภัย พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ ๓๗ นาย เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว ตลอดจนเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือทางสายด่วนนิรภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมงเพื่อประสานและให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป