บทความ: ช่องว่างรายได้ในสังคมไทย: ข้อเท็จจริงและมายาคติ (ตอนที่ 2)

จันทร์ ๒๐ กันยายน ๒๐๑๐ ๑๕:๓๐

จิราภรณ์ แผลงประพันธ์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

(ต่อจากตอนที่ 1)

อย่างไรก็ตามการกล่าวหาดังกล่าวจะมีความเป็นมายาคติน้อยลงหากเพิ่ม ‘ข้อเท็จจริง’ ว่า บางส่วนของ ‘ผู้นำการพัฒนา’ นั้นมิได้ทำหน้าที่ของตนอย่าง ‘สุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม’ ต่อผู้อื่น เช่นนายทุนที่บุกรุกทำลายป่าเพื่อเอาที่ดินมาทำการเกษตร (นายทุนดังกล่าวรวมถึงเกษตรกรทั้งรายใหญ่และรายย่อยด้วย) หรือสร้างรีสอร์ท นายธนาคารที่ใช้ความใกล้ชิดกับนักการเมืองแล้วขอให้รัฐบาลนำเงินงบประมาณมาช่วยแก้ปัญหาของธนาคารในยามประสบความเดือดร้อน นักธุรกิจที่ร่ำรวยจากสัมปทานจนได้ทำธุรกิจผูกขาดโดยจ่ายค่าสัมปทานคืนรัฐน้อยกว่าที่ควร

ยังมิพักต้องกล่าวถึงผู้ที่ฉ้อราษฎร์ บังหลวง โกงกินเงินงบประมาณ ฉ้อฉลเงินบริษัท ออกนโยบายที่ให้ผลประโยชน์ทับซ้อนกับผลประโยชน์ส่วนตนหรือพรรคพวก ซึ่งมีทั้งนักการเมือง ข้าราชการและนักธุรกิจ

ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนที่เกิดจากสาเหตุนี้จึงเป็นช่องว่างที่ไม่เป็นชอบธรรมและสังคมใดๆ ก็ไม่ควรยอมรับ ที่สำคัญช่องว่างที่เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบระหว่างกันที่ซ่อนเร้นอยู่ในระบบเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมืองแล้ว นอกจากจะเป็นช่องว่างที่ไม่ ‘ชอบธรรม’ แล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาในระดับโครงสร้างตามมาอย่างมากมาย เริ่มจากปัญหาในด้านเศรษฐกิจเอง ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยที่มากเกินควรจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเศรษฐกิจจะขยายตัวช้าและไม่ยั่งยืน เพราะมีประชาชนอีกจำนวนมากที่มีศักยภาพตามธรรมชาติในการสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจแต่ขาดโอกาสที่จะทำเช่นนั้น เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องการศึกษา ความรู้ เงินทุน และเส้นสาย เป็นต้น ระบบเศรษฐกิจโดยรวมจึงไม่ได้ประโยชน์จากคนเหล่านี้อย่างน่าเสียดาย การขาดโอกาสอันควรเช่นนี้อาจถ่ายทอดจากรุ่นพ่อแม่ไปสู่รุ่นลูกได้ เพราะเด็กที่พ่อแม่ยากจนมักเป็นเด็กด้อยโอกาสไปด้วย

อีกปัญหาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว คือเกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากเกินควร เนื่องจากการใช้อำนาจอิทธิพลที่ไม่ชอบธรรมของผู้ทำลายซึ่งมักจะมีเงินทุนและเส้นสาย นำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งต่อแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น การต่อต้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่

ปัญหาจากความเหลื่อมล้ำทางด้านสังคมก็มีมากมาย เช่นความไม่เท่าเทียมกันในการได้รับสิทธิต่างๆ เช่นสวัสดิการของรัฐ สิทธิการได้รับการดูแลและปกป้องตามกฎหมาย เป็นต้น ปัญหาการขายบริการทางเพศก็มีที่มาจากความไม่เท่าเทียมกันของฐานะระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายบริการ ซึ่งมีรายได้ต่างกันมากจนทำให้เกิดตลาดการซื้อขายศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิงหรือความเป็นมนุษย์ได้ (ประเทศที่มีความเท่าเทียมกันสูงมักไม่มีปัญหานี้ ไม่ว่าจะจนเท่าเทียมกันแบบประเทศอัฟริกา หรือรวยเท่าเทียมกันแบบประเทศแถบสแกนดิเนเวีย) หรือแม้กระทั่งปัญหาการเมืองเช่นการซื้อสิทธิ์ขายเสียงที่เป็นมาตลอด หรือการแพร่ขยายของแนวคิดประชานิยมในระยะหลังและได้กลายเป็นสูตรสำเร็จทางการเมืองของนักการเมืองที่เน้นผลประโยชน์ระยะสั้น ก็เพราะมีความแตกต่างกันมากระหว่างชีวิตความเป็นอยู่จนทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงเกิดในวงกว้าง และการขายนโยบายประชานิยมได้รับการตอบสนองอย่างท่วมท้นจากผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้เสียเปรียบและไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมกับอภิสิทธิชนในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ทุกสังคมมักจะมีกลไกภายใน ที่ปฏิเสธไม่ให้ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนห่างมากขึ้นเมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เช่นจะมีเสียงเรียกร้องให้มีการดูแลคนจนมากขึ้น (ไม่ใช่เพียงรอรับเศษเสี้ยวของประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ) มีนโยบายใหม่ๆ ที่กระจายความเจริญไปสู่ภาคส่วนอื่นของประเทศหรือสังคม ตัวอย่างเช่นในประเทศไทย การกระจายอำนาจการคลังหรือ fiscal decentralization ก็เกิดขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวประมาณสิบปีหลังจากที่เศรษฐกิจไทยล้มเหลวในการลดช่องว่างด้วยระบบเศรษฐกิจเองหรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สะท้อนความต้องการ ‘ปฏิรูป’แบบนี้ เช่นการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากมาร่วมการชุมนุมเพราะไม่พอใจที่พวกเขาในฐานะ ‘ผู้ตาม’ ได้รับส่วนแบ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยกว่า

กระแสการปฏิรูปในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องน่ายินดีและน่าส่งเสริม อย่างไรก็ตามต้องแยกแยะระหว่างมายาคติและข้อเท็จจริงของสาเหตุแห่งช่องว่างรายได้ที่ชอบธรรมและที่ไม่ชอบธรรมออกจากกัน และควรทำด้วยความระมัดระวัง โดยต้องเน้นไปที่การปฏิรูปในส่วนที่ก่อให้เกิดช่องว่างที่ไม่เป็นธรรม ในขณะที่ต้องไม่ขัดขวางกระบวนทางเศรษฐกิจที่กำลังค่อยๆ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในตัวเองอยู่ เช่นต้องไม่ขัดขวางการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (ซึ่งมีส่วนช่วยลดความยากจนอย่างปฏิเสธไม่ได้ นี่เป็น ‘ข้อเท็จจริง’ ที่ไม่ควรปฏิเสธ) แต่ควรต้องเน้นให้เป็นการขยายตัวอย่างมีส่วนร่วม (inclusive growth) คือให้ประชาชนทุกระดับชั้นมีส่วนร่วมในกระบวนการมากที่สุด เท่าเทียมกันมากเท่าที่เป็นไปได้ และต้องขจัดรากเหง้าของความไม่ชอบให้หมดสิ้นไป หรือลดน้อยลง

แนวทางแก้ปัญหารากเหง้าของปัญหาการกระจายรายได้มิใช่อยู่ที่ระบบเศรษฐกิจเพียงประการเดียว แต่เป็นผลพวงจากความเหลื่อมล้ำในอำนาจทางการเมือง ซึ่งแสดงออกในรูปของระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ชอบธรรมดังที่กล่าวถึงข้างต้น ความเหลื่อมล้ำของอำนาจทางการเมืองมีอยู่ในทุกระดับ ตั้งแต่ในระดับการเมืองท้องถิ่นซึ่งยังการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ (โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส) ในการใช้สิทธิใช้เสียงทางการเมืองและการจัดสรรทรัพยากรส่วนรวม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังถูกครอบงำด้วยผู้มีอิทธิพลในท้องที่ซึ่งใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง การเลือกตั้งมีลักษณะขึ้นกับตัวบุคคลสูงผ่านระบบอุปถัมภ์ระหว่างนักการเมือง หัวคะแนน และชาวบ้าน จนทำให้ผู้ที่ต้องการทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่นจริงๆ ไม่มีโอกาส ระบบอุปถัมภ์นี้เองที่เป็นฐานรากของความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้มี (have) กับผู้ไม่มี (have-not) ในสังคมไทย การเมืองแบบนี้ต่อยอดไปถึงการเมืองระดับประเทศ ซึ่งก็มีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนระดับชาติ ในการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนและกลุ่มตน

ดังนั้นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงต้องควบคู่กันทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง และต้องอาศัยภาครัฐและภาคประชาสังคมร่วมกันเป็นกลไกขับเคลื่อนภายใต้แนวทางที่หลากมิติหรือแบบองค์รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ในด้านเศรษฐกิจ รัฐควรเน้นการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เอื้อต่อคนจน (pro-poor growth) เช่นการให้การศึกษาและทักษะกับแรงงานระดับล่างที่ตรงกับความต้องการของระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวพร้อมๆ กับการแบ่งปันโภคผลของการเติบโตให้กับผู้มีรายได้น้อยอย่างเหมาะสมและทั่วถึง รัฐควรให้บริการประกันความเสี่ยงให้กับประชาชนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านสุขภาพ อุบัติเหตุ การว่างงาน โดยควรขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ รัฐและเอกชนควรร่วมมือกันพัฒนาเกษตรทางเลือกหรือเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ห่างไกลเพื่อสร้างงานให้แรงงานเกษตรชายขอบ และบรรเทาปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมและปัญหาสุขภาพของเกษตรกร เป็นต้น

ทางด้านสังคม สังคมไทยต้องให้การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึงและมีคุณภาพโดยเฉพาะการศึกษาในระดับกลางและระดับสูง และควรมีระบบแนะแนวการศึกษาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมที่กำลังเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาเพื่อให้สามารถเลือกวิชาที่ตรงกับความต้องการของตลาดหรือที่ตัวเองสนใจอย่างแท้จริง ควรให้การดูแลคนแก่ คนพิการและเด็กกำพร้าซึ่งช่วยตัวเองไม่ได้ให้สามารถใช้ชีวิตที่มีคุณค่าและมีอนาคต ควรมีการปรับเปลี่ยนค่านิยมเพื่อลดการบริโภคนิยมในประชากรที่รายได้น้อยและไม่แน่นอนซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว สังคมควรเปลี่ยนรูปแบบทุนทางสังคมให้อยู่ในลักษณะแนวนอน (horizontal social capital) กล่าวคือเป็นทุนทางสังคมที่ยืนอยู่บนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกัน เพื่อทดแทนทุนทางสังคมในแนวตั้ง (vertical social capital) ที่เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะไม่เท่าเทียมกันดังเช่นระบบอุปถัมภ์ที่มีเน้นทุนทางสังคมระหว่างผู้อุปถัมภ์กับผู้รับการอุปถัมภ์

ด้านการเมือง ควรให้มีกระจายอำนาจการคลังสู่ท้องถิ่น พร้อมๆ กับการส่งเสริมภาคประชาคมในท้องถิ่นให้มีความสามารถในตรวจสอบและติดตามการใช้งบประมาณ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและส่งเสริมประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า อันจะนำไปสู่การมีส่วนรวมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมืองอย่างแท้จริงต่อไป การจัดสรรสาธารณสมบัติ (common property) ของชุมชนก็ควรทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง องค์กรพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) ก็ควรได้รับการสนับสนุนและพัฒนาให้มีขีดความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลและผลักดันประเด็น (advocate) อย่างมีคุณภาพและได้ผล (effective).

เผยแพร่โดย ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ โทร.0-22701350 ต่อ 113 e-mail : [email protected] หน้า 3

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ