ก.ล.ต. และ ปปง. ลงนามบันทึกความตกลงประสานความร่วมมือในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน

พฤหัส ๒๓ กันยายน ๒๐๑๐ ๑๐:๕๖
วันนี้ (23 กันยายน 2553) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และ พันตำรวจเอก สีหนาท ประยูรรัตน์ รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการกำกับดูแลสถาบันการเงินเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

การลงนามบันทึกความตกลงครั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือในการกำกับดูแลภาคการเงินของประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตลาดทุนให้มีเสถียรภาพ โดยมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการตัวกลางในตลาดทุนตกเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ภายใต้บันทึก

ความตกลงดังกล่าว สำนักงาน ก.ล.ต. จะดำเนินการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติตามนโยบายเชิงป้องกันด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้มีระบบและมีการปฏิบัติตามมาตรการในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอ

นายธีระชัย กล่าวว่า “สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ให้ความร่วมมือกับสำนักงาน ปปง. มาโดยตลอดในการกำกับดูแลและผลักดันให้ผู้ประกอบการตัวกลางในตลาดทุนมีระบบในการป้องกันการใช้บริการธุรกิจหลักทรัพย์เป็นช่องทางในการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย การลงนามบันทึกความตกลงนี้ นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินการดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีระบบการกำกับดูแลที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง”

พันตำรวจเอก สีหนาท กล่าวว่า “ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังดำเนินการในเชิงยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลของ Financial Action Task Force หรือ FATF ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งหากประเทศใดมีการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลดังกล่าวอย่างเพียงพออาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของประเทศ และกระทบต่อการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินในประเทศนั้นๆ เนื่องจากประเทศคู่ค้าบางประเทศที่มีข้อกำหนดที่เข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลจะปฏิเสธการทำธุรกิจกับประเทศคู่ค้าที่ไม่มีการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน ”

อนึ่ง บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นสถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมเงินสด ธุรกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินและธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย และดำเนินการตามนโยบายเชิงป้องกันด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งกำหนดให้สถาบันการเงินต้องกำหนดนโยบายการรับลูกค้า มีการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกี่ยวกับการฟอกเงินของลูกค้า ต้องจัดให้ลูกค้าแสดงตนก่อนการทำธุรกรรม ดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และเก็บรักษารายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงตน

และการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ