กว่า 40 ชีวิต ได้ไปร่วมกิจกรรม ‘คณิตศาสตร์แสนสนุกกระตุกต่อมคิด’ กับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Press Tour ซึ่งส่วนประชาสัมพันธ์ สาขาคณิตศาสตร์ประถมศึกษา และสาขาคณิตศาสตร์มัธยมศึกษา สสวท. โดยอาจารย์สมเกียรติ เพ็ญทอง อาจารย์สุรัชน์ อินทสังข์ และสินีนาฎ ทาบึงกาฬ ร่วมกันจัดกิจกรรมนี้ขึ้น
กิจกรรม ‘คณิตศาสตร์แสนสนุกกระตุกต่อมคิด’ นี้จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลงานและแนวคิดของ สสวท. ให้สื่อมวลชนได้รับทราบ และเผยแพร่แนวทางการใช้แหล่งเรียนรู้ใกล้โรงเรียนสู่สาธารณชน
น้องๆ จากโรงเรียนคลองมะขามเทศที่ร่วมกิจกรรมนี้ ก็เป็นโรงเรียนใกล้สวนหลวง ร.9 ฉะนั้น งานนี้จึงได้มีคุณครูจากโรงเรียนเทศบาลอื่นๆ ในเขตประเวศ บ้านใกล้เรือนเคียงกับสวนสาธารณะดังกล่าว จำนวน 15 โรงเรียน มาร่วมสังเกตการณ์เพื่อนำกิจกรรมไปปรับใช้กับนักเรียนในโรงเรียนของตนเอง โดยในตอนท้ายวิทยากรจาก สสวท. ได้สรุปและแนะแนวทางจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์แบบบูรณาการให้แก่ครูดังกล่าวด้วย
การจัดกิจกรรมเช่นนี้ของ สสวท. เป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ครูปรับเปลี่ยนวิธีสอนที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง หันมาใช้แหล่งเรียนรู้ให้มากขึ้น กิจกรรมที่ออกแบบไว้เพื่อการนี้ก็ออกแบบโดยคำนึงถึงความสมจริงของสถานการณ์ของปัญหา ความแปลกใหม่ และความสนุกสนาน
โดยคราวนั้น อาจารย์สมเกียรติ เพ็ญทอง นักวิชาการสาขาคณิตศาสตร์ประถมศึกษา สสวท. กล่าวเอาไว้ว่า “ถ้าสวนหลวง ร.9 มีชุดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง อย่างที่ สสวท.ทำไว้เป็นตัวอย่างแก่ครูในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ก็จะเป็นประโยชน์แก่พ่อแม่ผู้ปกครองที่พาบุตรหลานมาเที่ยวได้เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากพ่อแม่ผู้ปกครองจะได้มาพักผ่อนที่สวนหลวง ร.9 ในวันหยุดเสาร์ — อาทิตย์แล้ว ยังสามารถนำชุดกิจกรรมนี้เรียนรู้ไปพร้อมกับบุตรหลาน เนื่องจากการเรียนรู้ไม่ได้เป็นหน้าที่ของครูแต่เพียงฝ่ายเดียว พ่อแม่ผู้ปกครองยังมีส่วนช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับบุตรหลานได้อีกทางหนึ่งด้วย
ถ้าผู้ปกครองได้เห็นกิจกรรมที่นำเสนอ อาจจะถามคำถามต่างๆ ให้ลูกตอบได้ พยายามคัดเลือกคำถามที่มีคำตอบที่เป็นไปได้หลายๆ แบบ ทุกคนที่เข้าใจสถานการณ์ปัญหาจะได้เสนอแนวทางของคำตอบแบบต่างๆ เด็กจะได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาตอบคำถาม เป็นการย้ำว่าคณิตศาสตร์มีประโยชน์และอยู่รอบตัวเรา”
สถานที่ๆ เยาวชนสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ได้นั้น มีทั้งแหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติและแหล่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นได้ทั้งบุคคล สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต แหล่งเรียนรู้อาจจะอยู่ ในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียนก็ได้ แต่แหล่งเรียนรู้อย่างสวนหลวง ร.9 นี้ อยากให้ครูที่สอนในโรงเรียนใกล้ๆ ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะนอกจากนักเรียนจะได้รับความรู้แล้ว ยังจะได้รับความสนุกสนาน และตื่นเต้นกับบรรยากาศใหม่ๆ
โดยหวังว่าครูจะฝึกการมองสิ่งรอบตัวให้โยงใยกับคณิตศาสตร์ได้ทุกสิ่งทุกเรื่อง ซึ่งถ้าทำได้แล้ว คณิตศาสตร์ก็จะเป็นเรื่องไม่น่าเบื่อทั้งกับนักเรียนและตัวครูเอง
การจัดกิจกรรม ‘คณิตศาสตร์แสนสนุกกระตุกต่อมคิด’ ครั้งนั้น นับว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ของการจัดกิจกรรมเพื่อเยาวชนที่ชูประเด็นเรียนรู้คณิตศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว
เมื่อกิจกรรม คณิตศาสตร์แสนสนุกกระตุกต่อมคิด’ ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากสื่อมวลชน สินีนาฎ ทาบึงกาฬ ร่วมกับวิทยากรอีก 2 ท่านข้างต้น จึงได้หารือกับ ผศ. ดร. บุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ (ปัจจุบันตำแหน่งทางวิชาการ รศ.) เว็บมาสเตอร์เว็บไซต์วิชาการดอทคอม www.vcharkarn.com เพื่อร่วมมือกันจัดกิจกรรมเช่นนี้อีกครั้ง โดยวิชาการดอทคอม ซึ่งรับการสนับสนุนจาก บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) มอบงบประมาณจัดกิจกรรมส่วนหนึ่งโดยและ สสวท. ดูแลด้านวิทยากร
จากนั้นไม่นาน กิจกรรม “คณิตศาสตร์ใส ๆ ในธรรมชาติ” จึงได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2549 ณ สวนหลวง ร. 9 โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากจังหวัดต่างๆ ที่สนใจร่วมกิจกรรม 26 คน และมีผู้ปกครองร่วมประจำกลุ่มอีก 10 คนด้วย
“ผมหวังว่ากิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ และส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาของเยาวชน สร้างความตระหนักว่าคณิตศาสตร์เป็นสิ่งใกล้ตัว และเชื่อมโยงเรียนรู้ได้ในชีวิตจริงทุกหนแห่ง และสร้างค่านิยมการคิดแบบวิทยาศาสตร์” ผศ. ดร. บุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ (ในตอนนั้น) กล่าว
เนื่องจากได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากการจัดกิจกรรมในครั้งแรก วิชาการดอทคอม จึงได้ร่วมกับ สสวท. จัดกิจกรรม “คณิตศาสตร์ใส ๆ ในธรรมชาติ” ครั้งที่ 2 ให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษา จำนวน 40 คน เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2551 ณ สวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ
ต่อมากิจกรรม “คณิตศาสตร์ใส ๆ ในธรรมชาติ” ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2552 ณ สวนหลวง ร. 9 ให้แก่เยาวชนชั้น ป. 5 — ป. 6 จำนวน 40 คน และกิจกรรม “คณิตศาสตร์ใส ๆ ในธรรมชาติ” ครั้งที่ 4 จะจัดวันที่ 24 ตุลาคม 2552 ณ สวนหลวง ร. 9 ให้แก่เยาวชนชั้น ม. 2 — ม. 3 จำนวน 40 คน มีคุณครูได้รับโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์เช่นเดิม
แนวทางการจัดฐานต่าง ๆ ที่จัดให้แก่เยาวชน อาทิ ฐานคณิตศาสตร์กับสวน เป็นเรื่องของการเขียนผังแสดงความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ ในสวน โดยใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ช่วยในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราส่วน การหาพื้นที่ รูปเรขาคณิต แบบรูปหรือแม้กระทั้งเรื่องของทิศ ทำให้การออกแบบสวนมีความน่าสนใจ และสวยงาม
ฐานคณิตศาสตร์กับใบไม้ วิเคราะห์และจำแนกประเภทของใบไม้โดยใช้เกณฑ์ต่าง ๆ และคำนวณหาพื้นที่ของใบไม้หลากหลายวิธี พื้นที่ของใบไม้ไม่เพียงแต่บอกเราเกี่ยวกับอัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาประเมินการเจริญเติบโตของต้นไม้และคุณภาพของต้นไม้ได้อีกด้วย
ฐานคณิตศาสตร์กับต้นไม้ น้อง ๆ ได้ร่วมกันอภิปรายถึงวิธีการคำนวณหาความสูงของต้นไม้ด้วยรูปแบบต่าง ๆ อย่างหลากหลาย รวมทั้งการนำวิธีการและข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงเราสามารถใช้ความรู้คณิตศาสตร์ คำนวณหาความสูงของต้นไม้ เมื่อทราบความสูงแล้วก็นำมาคำนวณหาอายุของต้นไม้ต้นนั้นได้
ฐานคณิตศาสตร์กับดอกไม้ กิจกรรมนี้เด็ก ๆ ได้ลงมือหาลําดับฟิโบนักชีในธรรมชาติ เนื่องจากพืช ผัก ผลไม้ ดอกไม้ แต่ละชนิด มีบางสิ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะในตัวของมันเองและเป็นเช่นนี้เสมอสำหรับสายพันธุ์เดียวกัน ลักษณะเฉพาะเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ นับว่าได้เห็นตัวอย่างความมหัศจรรย์ของลำดับฟิโบนักชีในธรรมชาติที่น่าทึ่งมาก
หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมแล้ว น้อง ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมยังกลับไปคิดและศึกษาค้นคว้าต่อยอด ได้จาก แหล่งต่าง ๆ ที่บอกไว้ในเอกสารคู่มือการเข้าร่วมกิจกรรม และสิ่งสำคัญที่พี่ ๆ ทีมงานทิ้งท้ายให้น้อง ๆ ได้คิดก็คือ ความตระหนักในความมหัศจรรย์ในธรรมชาติ และความเชื่อมโยงของคณิตศาสตร์ที่มีอยู่รอบ ๆ ตัวเรา
นอกจากการจัดกิจกรรมโดยตรงให้แก่เยาวชนแล้ว สสวท. ยังมุ่งเน้นที่จะขยายผลไปสู่ครูคณิตศาสตร์ให้นำไปจัดกิจกรรมต่อในโรงเรียนของตน จึงได้ทำคู่มือการจัดกิจกรรมนี้เผยแพร่ให้แก่ครูคณิตศาสตร์ รวมทั้งนำแนวคิดการจัดกิจกรรมไปบรรยายเผยแพร่ต่อตามเวทีต่าง ๆ เช่น เผยแพร่ในการจัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในโรงเรียน (วทร.) การอบรมครูทางไกลผ่านดาวเทียม การจัดอบรมครูคณิตศาสตร์ของ สสวท. ฯลฯ ซึ่งมีครูที่ได้รับแนวคิดนี้ไปจัดกิจกรรมต่อในโรงเรียนกันบ้างแล้ว
นับจากวันแรกที่จัดกิจกรรม “คณิตศาสตร์แสนสนุกกระตุกต่อมคิด” สู่ “คณิตศาสตร์ใสๆ ในธรรมชาติ” บัดนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว สสวท. ยังคงร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และเว็บไซต์วิชาการดอทคอม จัดกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
และ อาจารย์สมเกียรติ เพ็ญทอง หรือ “พี่สมเกียรติ” ของน้อง ๆ ก็ยังคงรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมวิทยากร จัดกิจกรรม.....อย่างมีความสุข
ล่าสุด สสวท. และวิชาการดอทคอมจะเปิดรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมคณิตศาสตร์ใสๆ ในธรรมชาติ ครั้งที่ 5 ในเร็ว ๆ นี้ โปรดรอติดตามข่าวสารการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ www.ipst.ac.th หรือ www.ipst.ac.th อีเมล์ [email protected]