นายกำจร กล่าวว่า 4 ปีแห่งความร่วมมือระหว่าง TCELS กับ RIKEN ประสบความสำเร็จในโครงการต่าง ๆ หลายโครงการ โดยเฉพาะทางด้านจิตเวช และสุขภาพจิต โดยโครงการเริ่มแรกคือเรื่องการศึกษาความเสี่ยงทางพันธุกรรมกับการเกิดโรค PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) เพื่อทำฐานข้อมูลด้านสุขภาพจิตและพันธุกรรมของผู้ที่รอดชีวิตจากสึนามิกว่า 5 ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการเก็บข้อมูลกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรกของโลก โดยTCELS ได้ส่งนักวิจัยไปปฏิบัติงานในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ RIKEN มหาวิทยาลัยโตเกียว ในชื่อโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปข้อมูล และที่ต้องใช้เวลาเนื่องจากโรคทางด้านจิตเวชมีสาเหตุที่หลากหลาย จึงใช้วิธีวิเคราะห์ที่แตกต่างจากการวิเคราะห์ทั่วไป นอกจากนี้ RIKEN ยังให้ความสนใจในการศึกษาโรคซึมเศร้าร่วมกับสถาบันราชนุกูล ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ โดยจะได้ลงนามความร่วมมือกันในอนาคตอันใกล้ต่อไป เพื่อขยายผลไปสู่โรคจิตเวชอื่น ๆ
ด้าน ดร.นาโยกิ คามาตานิ ผู้อำนวยการ RIKEN กล่าวว่า ที่เราให้ความสนใจโครงการศึกษาโรคซึมเศร้าของสถาบันราชานุกูลเนื่องจากในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีกรณีการฆ่าตัวตายถึงปีละกว่า 30,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จิตแพทย์ในญี่ปุ่นก็พยายามเก็บข้อมูลคนไข้และตัวอย่างเลือดเพื่อทดสอบว่าเกิดจากสาเหตุอะไร และเชื่อว่าพันธุกรรมอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคได้ หากเราทราบแต่เนิ่นจะสามารถวางแผนการป้องกันได้ ซึ่งเราเชื่อในศักยภาพของสถาบันราชานุกูลว่าสามารถทำได้