หลังจากดำเนินธุรกิจกว่า 2 ปี “เมโทรบัส” เปิดเส้นทางแล้ว 7 เส้นทาง จากจำนวน 35 เส้นทาง ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการครบทุกเส้นทางภายในปี 2554 และเส้นทางที่เปิดให้บริการเพิ่มในกลางเดือนกันยายนนี้คือ สาย ปอ.พ. 32-9 (ทางด่วน) บางบัวทอง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทดลองวิ่งโดยใช้เส้นทาง
ปากเกร็ด-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เริ่มต้นจากท่าน้ำปากเกร็ด ผ่านวัดชลประทานรังสฤษฎ์ แยกสามัคคี สถาบันโรคทรวงอก ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี แยกแคลาย ถนนงามวงค์วาน ศูนย์การค้าพันธ์ทิพย์งามวงค์วาน ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์งามวงค์วาน ขึ้นทางด่วนศรีรัช ด่านงามวงค์วาน ลงทางด่วนด่านคลองประปา ถนนพระรามหก เข้าสี่แยกตึกชัย เลี้ยวซ้ายเข้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และใช้ทางด่วนศรีรัช ด่านพหลโยธินมุ่งหน้างามวงค์วานในทางกลับกัน ด้วยค่าบริการพิเศษ 30 บาทในช่วงทดสอบการให้บริการ ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2553 จากราคาปกติ 40 บาทตลอดเส้นทาง“ปากเกร็ด-อนุสาวรีย์ชัยฯ” ซึ่งทางเมโทรบัสคาดว่าจะสามารถให้บริการแก่ผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 30,000 คน
ปัจจุบัน “เมโทรบัส” ได้จัดเส้นทางบริการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่น เช่น สถานีรถไฟฟ้า BTS, รถใต้ดิน MRT, ท่าเรือด่วน และล่าสุดคือแอร์พอร์ตลิงค์
เมโทรบัส ให้ความสำคัญกับการบริการ โดยเน้นความแตกต่างที่สำคัญตามมาตรฐานของ
เมโทรบัสคือ ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย ความสะอาด ความเพลิดเพลิน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับผู้ให้บริการ คือ กัปตันเมโทรบัส ซึ่งเป็นผู้ขับขี่และให้บริการกับผู้โดยสาร กัปตันกว่า 350 ท่านในปัจจุบันได้รับการอบรมเป็นพิเศษ โดยเน้นการบริการที่คำนึงถึงความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการ พร้อมทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพของอาชีพของผู้ที่รับผิดชอบผู้โดยสารที่มีอยู่เป็นจำนวนมากของระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานครอีกด้วย มีการจำกัดความเร็วรถให้ไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ “เมโทรบัส” ยังมีศูนย์บริการ “เมโทรแคร์เซ็นเตอร์” ที่ให้บริการเพิ่มเติมสำหรับผู้โดยสาร เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดความไม่สะดวกในการรอคอยการให้บริการได้ การให้บริการหลักของ “เมโทรแคร์เซ็นเตอร์” คือการให้ข้อมูลเส้นทางการเดินรถ ตำแหน่งของรถเมโทรบัส ความปลอดภัย การปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน จนกระทั่งการให้ความคิดเห็นติชมการให้บริการ และสอบถามสิ่งของที่ลืมไว้บนรถ ผ่านระบบ เมโทรลิ้งค์ (GPS และ GPRS) ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากผู้โดยสารจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทางเมโทรบัสนำมาใช้ในการพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่องเพื่อสามารถให้บริการแก่ผู้โดยสารได้สมบูรณ์แบบมากที่สุด ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ “เมโทรแคร์เซ็นเตอร์” มากกว่า 15,000 สายต่อเดือน และในช่วงปลายปี 2553 นี้ บริษัท พรีเมียร์ เมโทรบัส จำกัด มีแผนเปิด Terminal แห่งใหม่ย่านพระราม 9 เนื้อที่ 40 ไร่ รองรับรถได้มากกว่า 400 คัน จะเป็นลักษณะของ “จอดแล้วจร” (Park and Ride) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารที่ใช้บริการรถเมโทรบัส เพื่อเชื่อมต่อสู่ระบบขนส่งมวลชนอื่น แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว อาคารนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท การออกแบบของอาคารจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะใช้น้ำรีไซเคิล 100% มีระบบบำบัดน้ำภายในและต้นไม้เป็นตัวควบคุมมลพิษ ความร้อน เพื่อลดการใช้พลังงาน ภายใน Terminal จะให้บริการอย่างครบวงจร ทั้งที่จอดรถ อาคารผู้โดยสาร ร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน รวมทั้งคลับเฮ้าส์ หลังจาก Terminal ที่ย่านพระราม 9 เปิดบริการปลายปี 2553 นี้ “เมโทรบัส” มีเจตนารมย์ที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างโครงข่ายขนส่งมวลชน จากนอกเมืองเข้าสู่ในเมืองให้สมบูรณ์แบบและครอบคลุมยิ่งขึ้น