กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--พิตอน คอมมิวนิเคชั่น
บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) - Siam City Cement Public Company Limited (SCCC) นำทีมโดย คุณจันทนา สุขุมานนท์ รองประธานบริหาร การตลาดและการขาย ได้ทำพิธีส่งมอบบ้านและทำบุญขึ้นบ้านใหม่เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการกระทำความดีแด่ นายสำรอง แหลมหลาว หรือเปลี้ยยอดกตัญญู โดยมีนายคมกฤษณ์ ลิ้มปัญญาเลิศ นายกเทศมนตรีตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา นายกิมิชา พงษ์สว่าง สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล นายสันติ ปาทาน กำนันตำบล และนางพนิดา นวรัตน์พงษ์ศิริ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 22 และชาวหมู่บ้าน บ้านใหม่พัฒนา ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายสำรอง แหลมหลาว หรือเปลี้ยยอดกตัญญู เป็นบุคคลพิการทางสมองอายุ 38 ปี ที่มีพัฒนาการทางสมองเท่ากับเด็กวัย 6 ขวบ เปลี้ยเป็นบุตรคนที่ 7 จากบรรดาพี่น้องท้องเดียวกัน 10 คน อาศัยอยู่กับบิดามารดาที่ชราภาพและมีสุขภาพทรุดโทรมที่หมู่บ้านเล็กๆในตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เรื่องราวอันซาบซึ้งในความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการีของเปลี้ยได้รับการตีแผ่สู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกผ่านรายการสารคดีชื่อดัง “ฅนค้นคน” ออกอากาศทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี เมื่อปลายปีพ.ศ. 2547 โดยคำบอกเล่าจากชาวบ้านในละแวกที่ครอบครัวของเปลี้ยอาศัยอยู่ ถึงความรักความห่วงใยที่ชายพิการทางสมองคนหนึ่งมีต่อแม่ของเขา จนได้รับการขนานนามว่า เปลี้ยยอดกตัญญู
ป้าเกิด ทองละหาร วัย 72 ปี มารดาของเปลี้ย เล่าถึงชิวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวด้วยภาษาท้องถิ่นโคราชว่า ทุกเช้า เปลี้ยจะเอาเสื่อมาปูบนรถเข็นเก่าๆ แล้วพาป้าเกิดซึ่งหลังค่อมและเดินเหินไม่ค่อยสะดวกนั่งบนรถพร้อมด้วยผักที่ป้าเก็บมาจากตามท้องไร่ท้องนาออกเดินตระเวณขายไปตามแถวละแวกบ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส เปลี้ยเข็นรถเร่ขายผักตลอดทั้งวันไปกลับร่วม 20 กิโลเมตร โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เป็นที่เวทนาสงสารจากชาวบ้านในแถบนั้นเป็นยิ่งนัก กำไรวันละไม่กี่บาทจากการขายยอดกระถิน ไหลบอน ต้นบอนและผักอื่นๆ ที่หามาขายได้ ป้าเกิดต้องเก็บไว้เลี้ยงสามชีวิตในครอบครัวและเจียดส่วนหนึ่งไว้เป็นค่าหมอค่ายา ในยามที่ตนและลุงฉลวย แหลมหลาว บิดาของเปลี้ยวัย 68 ปี เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย
“ตาก็เจ็บๆ ไข้ๆ ไปหาหมอมาแล้วเขาก็ให้ยามากิน กินก็บ่ค่อยหายดอก มันแก่แล้ว” ลุงฉลวยเล่าถึงสุขภาพร่างกายที่ เจ็บออดๆ แอดๆ บ่อยครั้งของตน ลุงป่วยด้วยโรคชรารุมเร้าเสียจนทำงานไม่ไหว เปลี้ยจึงเปรียบเหมือนเสาหลักของบ้านที่ต้องคอยดูแลพ่อแม่ ทำงานบ้าน หาฟืน ตักน้ำ และทำงานสารพัด บางครั้งก็มีเพื่อนบ้านที่เวทนาสงสารมาช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ หรือแบ่งกับข้าวมาให้ครอบครัวของเปลี้ยได้พอรับประทานบ้าง
“เจ๊ซื้อผักจากแม่เปลี้ยแทบทุกวัน ที่บ้านขายของชำ บางวันเราก็มีผักอยู่แล้ว แต่พอเขามาขายก็ซื้อแล้วเอามาทำแกงให้เขาไปกินตอนกลับบ้าน บางวันก็ให้บะหมี่ซองไปต้มกิน สงสารแม่เขา” นางสุภาพ ชาตินุช อายุ 53 ปี ชาวบ้านโคก ตำบลหนองสาหร่าย ลูกค้าผักของเปลี้ยและแม่ที่มาร่วมแสดงความยินดีในงานพิธีส่งมอบบ้านเล่า
ภาพความผูกพันของสองแม่ลูกและความกตัญญูกตเวทีของเปลี้ยที่มีต่อมารดา เป็นภาพประทับใจที่คุ้นตาชาวบ้านตำบลหนองสาหร่ายในละแวกใกล้เคียงอยู่ทุกวัน เปลี้ยเป็นบุตรคนเดียวในครอบครัวที่ช่วยแบ่งเบาภาระของแม่ โดยพี่น้องที่มีร่างกายและสมองที่สมบูรณ์ทั้ง 9 คนของเปลี้ยต่างก็มีครอบครัวแยกย้ายไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ บางคนที่ยังอาศัยอยู่ในละแวกใกล้ๆ ก็ได้แต่มาเยี่ยมไข้เป็นครั้งคราว ในยามที่พ่อหรือแม่ไม่สบายหนักเท่านั้น
“มาดูแม่เวลาที่เจ็บ” นางสวง ทองละหาร พี่สาวคนที่ 3 ของเปลี้ยกล่าว “พูดตรงๆ เราก็แทบไม่มีจะกิน งานก็ไม่ได้ทำ รับจ้างเขาดายหญ้าไม่ค่อยมีงาน มาเยี่ยมก็ไม่มีอะไรจะให้” เธอกล่าวด้วยสีหน้าเศร้าหมอง
ชื่อเสียงความดีงามของเปลี้ยแผ่กระจายออกไปถึงผู้บริหารบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีนโยบายในการช่วยเหลือคนดีและเกื้อหนุนสังคมมาด้วยความสม่ำเสมอเป็นอย่างดี ทางบริษัทจึงยื่นมือเข้ามาสนับสนุนครอบครัวของเปลี้ยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการซื้อที่ดินและสร้างบ้านให้กับเปลี้ยหนึ่งหลัง เนื่องด้วยบ้านหลังเดิมของเปลี้ยปลูกในที่ดินของคนอื่น และป้าเกิดมารดาของเปลี้ยเกรงว่าเจ้าของที่ดินจะมาไล่ที่ ทางบริษัทจึงพาครอบครัวของเปลี้ยไปเลือกดูที่ทางในละแวกเดียวกันจนเป็นที่พอใจ แล้วจึงสร้างบ้านอันเป็นความฝันที่จะให้พ่อและแม่ของเขาอยู่อย่างสุขสบายแก่ชายหัวใจกตัญญูผู้นี้
“การที่ครอบครัวของเปลี้ยมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองถือเป็นการส่งเสริมช่องทางการประกอบอาชีพเกษตรเล็กๆ น้อยๆ เพื่อการเลี้ยงตัวเองของครอบครัวได้ ที่ดินพร้อมบ้านที่สร้างโดยปูนซีเมนต์นครหลวงที่เราส่งมอบให้กับเปลี้ยวันนี้ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 250,000 บาท” คุณจันทนา สุขุมานนท์ รองประธานบริหารบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าว “ทางบริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นส่วนร่วมเปิดบ้านสานฝันให้กับเปลี้ยยอดกตัญญูผู้มีจิตใจงดงามและอีกหลายคนในสังคมที่ยังต้องการความช่วยเลือจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เช่น โครงการสร้างโรงเรียนและบ้านพักครูเพื่อผู้ประสบภัยธรณีพิบัติสึนามิ จังหวัดพังงา และสร้างบ้านให้แก่นักมวยสามพี่น้องยอดนักสู้แห่งลุ่มแม่น้ำปิง ที่ได้มีพิธีส่งมอบบ้านไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ เรายังมีโครงการดีๆ เพื่อหยิบยื่นความช่วยเหลือกลับคืนสู่สังคมอีกมากมายที่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสานฝัน “As i wish” ของเรา” คุณจันทนากล่าวเสริม
บ้านที่ทางบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)ได้สร้างให้กับเปลี้ย อยู่บนที่ดินกว้าง 200 ตารางวา เปลี้ยและครอบครัวย้ายเครื่องนอนและข้าวของเครื่องใช้เข้ามาในบ้านหลังเสร็จพิธีทางศาสนาและพิธีส่งมอบบ้าน โดยมีที่อยู่ตามโฉนดที่ดินและทะเบียนบ้าน เลขที่ 239 หมู่ที่ 25 หมู่บ้านใหม่พัฒนา ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทางบริษัทได้ติดตั้งไฟฟ้าและน้ำประปาเพื่อความสะดวกสบายแก่เปลี้ยและแม่ ตอนนี้เปลี้ยมีหลังคาที่ฝนไม่รั่วและฝาบ้านทำด้วยปูนโอบล้อมให้ความอบอุ่นแก่เขาและพ่อแม่แล้ว เปลี้ยบอกเราว่า รักแม่ที่สุดในโลก บ้านนี้เปลี้ยมอบให้แด่แม่ของเขา
ภาพรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอันสดใสของน้องเปลี้ยเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ผุดผ่องไม่ต่างจากเด็กอายุ 6 ขวบทั่วๆ ไป ชาวบ้านมากมายที่สรรเสริญในความดีของเขาต่างหลั่งไหลกันเข้ามาลงแขกช่วยงานทำบุญเลี้ยงพระขึ้นบ้านใหม่และร่วมแสดงความยินดีกับเปลี้ย ไม่ว่าอากาศในวันนั้นจะหนาวเหน็บสักเพียงใด ดวงตาของป้าเกิดที่เปี่ยมล้นไปด้วยความหวังในการเริ่มต้นปลูกพืชผักสวนครัวเล็กๆ และเลี้ยงไก่ไว้เพื่อบริโภคในครอบครัวฉายแววสดใสขึ้นเมื่อหญิงชรายิ้มอย่างภาคภูมิใจในตัวลูกชาย แม้ว่าลุงฉลวยผู้เป็นพ่อจะไม่สามารถออกมาร่วมพิธีส่งมอบบ้านได้เพราะเป็นแผลเจ็บจนเดินไม่ได้ แต่ลุงก็ซ่อนน้ำตาแห่งความยินดีไว้ไม่อยู่ ภาพประทับใจเหล่านี้ จะตรึงตราตรึงใจผู้ที่ได้มาร่วมเป็นประจักษ์พยานไปอีกตราบนานเท่านาน
เกี่ยวกับบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) และครอบครัวอินทรี
จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 โดยการก่อตั้งของตระกูล รัตนรักษ์ ปูนซีเมนต์นครหลวงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด บริษัทฯ ได้จดทะเบียนเข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2520 และในปี พ.ศ. 2541 โฮลซิม กรุ๊ป จากสวิตเซอร์แลนด์ หนึ่งในผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกได้เข้าร่วมถือหุ้นของบริษัทฯ ปัจจุบันปูนซีเมนต์นครหลวงมีพนักงานและเจ้าหน้าที่ประมาณ 2,400 คน มีกำลังการผลิตปูนเม็ดรวม 12.3 ล้านตันต่อปี ซึ่งสามารถผลิตเป็นปูนซีเมนต์ได้ถึง 17 ล้านตันต่อปี ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ครอบครัวอินทรี” ซึ่งประกอบด้วย ปูนสูตรพิเศษเพื่อการก่อและฉาบโดยเฉพาะ “อินทรีทอง” ปูนซีเมนต์ผสมตรา “อินทรีแดง” ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 1 ตรา “อินทรีเพชร” ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 3 ตรา “อินทรีดำ” ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ปอซโซลานตรา “อินทรีเขียว” ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ปอซโซลาน ชนิดทนคลอไรด์สูงตรา “อินทรีสมุทร” และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 5 ตรา “อินทรีฟ้า”--จบ--