นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และนายวินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวและลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลสิทธิการรับบริการด้านสุขภาพระหว่างกรุงเทพมหานคร และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อบูรณาการข้อมูลสิทธิประกันสุขภาพของผู้รับบริการด้านสาธารณสุขจากสถานพยาบาลของกรุงเทพมหานคร กับฐานข้อมูลกลางด้านสิทธิประกันสุขภาพของ สปสช. ผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศ ซึ่งจะช่วยให้การตรวจสอบและยืนยันสิทธิประกันสุขภาพจากทุกกองทุนของผู้รับบริการและครอบครัว เป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว
สำหรับสาระสำคัญในบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลสิทธิการรับบริการด้านสุขภาพ ระหว่าง กทม. และ สปสช. อาทิ การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อตรวจสอบสิทธิประกันสุขภาพของผู้รับบริการด้านสาธารณสุขจากหน่วยบริการสุขภาพของกทม. กับฐานข้อมูลกลางด้านสิทธิประกันสุขภาพของ สปสช.ผ่านเว็บเซอร์วิส (web service) เพื่อให้เกิดช่องทางในการเบิกจ่ายตามสิทธิได้ถูกต้องและสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งร่วมกันพัฒนาระบบประมวลผลผ่านเครือข่ายสื่อสารข้อมูลให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงาน พร้อมทั้งได้กำหนดให้มีผู้ประสานระหว่างสองหน่วยงาน ได้แก่ เลขาธิการ สปสช. หรือผู้แทน และในส่วนของกทม.มีจำนวน 5 คน ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักการคลังหรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลหรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักอนามัยหรือผู้แทน และผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียนหรือผู้แทน เป็นผู้ประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ปลัดกทม. กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีประชาชนเข้ารับบริการในโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมาก โดยในปีงบประมาณ 2552 มีจำนวนผู้เข้ารับบริการกว่า 4.7 ล้านคน ซึ่งจากการลงนามบันทึกความร่วมมือนี้จะช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการบันทึกข้อมูลประวัติเบื้องต้นของผู้รับบริการเมื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลทั่วประเทศ อาทิ ข้อมูลหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด อายุ เพศ ที่อยู่ สัญชาติ และสิทธิการประกันสุขภาพ โดยใช้เพียงบัตรประชาชนเอนกประสงค์ (smart card) หรือเลขประจำตัว 13 หลัก เพื่อตรวจสอบและยืนยันตัวบุคคลที่ถูกต้องก่อนส่งเข้ารับบริการทางการแพทย์โดยไม่ต้องทำการบันทึกข้อมูลใหม่ ซึ่งจะทำให้ฐานข้อมูลของผู้รับบริการมีความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและบริหารจัดการงบประมาณการใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในอนาคต ให้ครอบคลุม ทั่วถึง และเท่าเทียม สำหรับประชาชนโดยรวม