นายสุวิทย์ กล่าวว่า เวทีการประชุมเอเปค เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมที่สำคัญของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ มหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดเป็นเครือข่าย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ เกิดการลงทุน เพื่อสู่ความเป็นอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ที่เต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะให้การสนับสนุนธุรกิจด้านนี้ และผลักดันเป็นนโยบายชาติ ทั้งนี้ธุรกิจชีววิทยาศสตร์จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับมนุษยชาติ ไม่เฉพาะประเทศใดประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง แต่หมายถึงมนุษยชาติทั่วโลกนี้
“ ประเทศไทยคาดหวังจะเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากเรามีความพร้อมในด้านบุคลากร วัตถุดิบ และมีองค์กรหลาย ๆ องค์กรที่มีศักยภาพในการผลิต วิจัย เพียงแต่อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ซึ่ง TCELS กำลังรวบรวมหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านั้น เพื่อขับเคลื่อนเป็นองคาพยพ ดีกว่าต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างเดิน ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดพลัง”
ด้าน ศ.พรชัย กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์หลาย ๆ ตัวที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบัน จากที่เคยสั่งซื้อจากต่างประเทศ ในอนาคตเราจะผลิตเองได้มากขึ้น และเราจะอยู่ในฐานะที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นนวัตกรรมระดับโลกต่อไปได้โดยการ ย้อนกลับไปผลิตต้นน้ำ แข่งขันได้จริง ซึ่งต้องใช้เวลาเพราะการเชื่อมต่อนั้นช่วงแรกจะใช้เวลานาน แต่ถ้าดำเนินการสำเร็จแล้วการพัฒนาต่อยอดในขั้นต่อไปจะเร็ว ที่ผ่านมาเราอาจจะเคยชินกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และซื้อ จึงดูเหมือนการลงทุนเริ่มแรกจะใช้เงินเยอะและเสียเวลา ทั้งที่ความจริงแล้วมันสำคัญ และมันจะคุ้มค่าอย่างสูงในอนาคต
“สิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือการตั้งโรงงานผลิตวัคซีน เนื่องจากเวลาเกิดการแพร่ระบาดของโรค เราทำได้เพียงการสั่งซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ ซึ่งอาจจะช้า และมีจำนวนจำกัด หากเรามีโรงงานเองจะสามารถรองรับคนในชาติ ในภูมิภาค และมันหมายถึงการช่วยเหลือมนุษยชาติได้อีกด้วย” ศ.พรชัย กล่าว
นายกำจร กล่าวว่า เวทีการประชุมเอเปกนั้นมีการพูดถึงการวิจัยเพื่อหาปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรค โดยเป็นการศึกษาระยะยาว ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการแล้วโดยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และอาจจะเป็นเจ้าภาพหลักในอนาคต ถือเป็นผลผลิตจากเวทีเอเปคแห่งนี้ และในอนาคตหากมีการรู้ถึงวิธีการป้องกันการเกิดโรคจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคต่าง ๆ ลดลงอย่างมหาศาล นอกจากนี้ในเวทีเอเปคยังเน้นทำงานเป็นทีม กล่าวคือ ไม่ว่าประเทศใดจะเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการก็ตาม แต่ประเทศในเครือข่ายจะสามารถร่วมใช้เทคโนโลยีได้ อาทิ Training Center ที่จะฝึกอบรมการใช้กฎระเบียบร่วมกันโดยเกาหลีรับเป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่ การวิจัยทางคลินิกในภูมิภาคเอเชียนั้น ประเทศไต้หวันเป็นเจ้าภาพ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 026445499 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย