จากความต้องการเข้าถึงดิจิตอลคอนเทนท์ที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าทางอินเทอร์ความเร็วสูงแบบมีสาย (ADSL) และไร้สาย ( Mobile 3G/4G ) ผู้ให้บริการล้วนต้องการทำให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้งานเข้าถึงคอนเทนท์ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บรรดาผู้ให้บริการในไทยต่างพากันหาเทคโนโลยี และโซลูชั่นมาช่วยเสริมการให้บริการอินเทอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพและประหยัดการเชื่อมต่อต่างประเทศ
“จัสเทลในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคม และอินเทอร์เน็ต ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงได้ตอบสนองความต้องการดังกล่าว ด้วยการเชื่อมต่อตรง ( Peering ) กับผู้ให้บริการคอนเทนท์ต่างประเทศ เช่น Google, Yahoo, Microsoft, Akamai, Facebook, Twitter, Blackberry ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ได้รับคอนเทนท์จากจุดเชื่อมต่อกับเจ้าของคอนเทนท์รายนั้นๆโดยตรง ขณะเดียวกันยังได้นำ Cache Server ของผู้ให้บริการคอนเทนท์มาวางใน Internet Data Center ของจัสเทลเพื่อให้ลูกค้าสามารถดาวน์โหลดคอนเทนท์ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
ในปัจจุบันศูนย์รวมดิจิตอลคอนเทนท์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ได้กระจัดกระจายไปอยู่ตามผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างประเทศหรือไอเอสพีไทยแต่ละราย ซึ่งยังไม่เหมือนในบางประเทศที่มีการตั้ง Internet Exchange ที่เป็นศูนย์กลางและเป็นกลางจริงๆ ซึ่งผู้ให้บริการในแต่ละรายมาลงทุนร่วมกัน ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อ อีกทั้งยังทำให้มีอำนาจต่อรองผู้ให้บริการคอนเทนท์รายใหญ่มาวางเซิบเวอร์ที่ศูนย์กลางเพียงที่เดียว
นอกจากการรวมศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนแล้ว ยังเป็นการสร้างอำนาจการต่อรองให้ผู้ให้บริการคอนเทนท์ต่างประเทศนำเซิบเวอร์มาตั้งรวมกันแล้ว สิ่งที่สำคัญคือถ้าประเทศไทยสามารถสร้างคอนเทนท์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น ละคร ภาพยนตร์ เกมส์ การ์ตูน กีฬา ข่าวสารและส่งออกไปขายต่างประเทศ ก็อาจจะทำให้แบนด์วิธที่จะเกิดขึ้นจะเป็นด้านส่งออก มากกว่ารับเข้ามาในประเทศเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างอำนาจต่อรองแลกเปลี่ยนแบนด์วิธ แบบไม่ต้องซื้อกันได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การตั้งศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล ( Exchange Point) และการสนับสนุนให้สร้างคอนเทนท์ของประเทศไทยล้วนต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ อย่างจริงๆ จังๆ นั้นหมายถึงจะทำให้การเติบโตของประเทศพัฒนาไป ทุกๆ ด้าน เนื่องจากดิจิตอลคอนเทนท์กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของคนเราไปแล้ว