ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553 เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. และ บก.ปอศ. จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดธัญบุรีเพื่อขอหมายจับ น.ส.สิริยากรฯ ซึ่งศาลฯ ได้อนุมัติหมายจับตามหมายจับที่ 967/2553 ในความผิดฐาน ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก ตามประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 90/4(3) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันถึงสองแสนบาท นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการกระทำดังกล่าวยังต้องรับผิดทางแพ่งโดยต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
หลังจากนั้นกรมสรรพากรและเจ้าหน้าที่ตำรวจของ บก.ปอท. และ บก.ปอศ. ได้แบ่งกำลังเป็น 6 ชุดปฏิบัติการ กระจายกันเข้าตรวจค้นตามจุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาใช้สำหรับออกใบกำกับภาษีปลอมดังกล่าวเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน และสามารถจับกุมตัว น.ส.สิริยากรฯ ผู้ต้องหาหนึ่งในขบวนการขายใบกำกับภาษีปลอมได้ที่บริเวณหมู่ที่ 6 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี พร้อมทั้งสามารถยึดเอกสารใบกำกับภาษีปลอมได้เป็นจำนวนมาก และยึดเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 6 เครื่อง ในเบื้องต้นคิดมูลค่าสินค้า ที่ซื้อขายตามใบกำกับภาษีปลอมได้กว่าหนึ่งพันล้านบาท ส่งให้พนักงานสอบสวน บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายและจะสืบสวนสอบสวนเพื่อติดตามจับกุมขบวนการดังกล่าวที่เหลือต่อไป
สำหรับผู้ที่นำใบกำกับภาษีปลอมดังกล่าวไปใช้ในการเครดิตภาษี เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้น้อยลง หรือนำไปใช้เป็นรายจ่ายเท็จในการคำนวณภาษีเงินได้ มีความผิดตามประมวลรัษฎากร โดยต้องรับผิดทางแพ่งตามจำนวนภาษีที่นำไปเครดิตภาษีหรือเป็นรายจ่ายเท็จพร้อมเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และมีโทษทางอาญากรณีใช้ใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 90/4(7) และกรณีหลีกเลี่ยงภาษีอากรตามมาตรา 37(2) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันถึงสองแสนบาท เช่นเดียวกับผู้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย