“ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” หนุนยกระดับความเป็นอยู่แรงงานไทย เสนอขึ้นค่าจ้าง 2 มิติ

พฤหัส ๐๗ ตุลาคม ๒๐๑๐ ๑๔:๕๓
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ชง 3 ยุทธศาสตร์ป้อนกรรมการปฏิรูป ผลัก “ปฏิรูปคุณภาพชีวิตลูกจ้าง-แรงงานไทย” เสนอเพิ่มค่าจ้างให้ปรับ 2 มิติ “เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 250 บาท — คิดจากค่าจ้างขั้นต่ำบวกกับค่าทักษะและฝีมือ”

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กรรมการปฏิรูป (คปร.) และกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านการปฏิรูปคุณภาพชีวิตแรงงานและคนจนเมือง เปิดเผยกับศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทยถึงข้อเสนอการปฏิรูปคุณภาพชีวิตแรงงานไทย “การสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านแรงงาน” ที่เสนอ ต่อคปร.เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ได้เสนอ 3 ยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปชีวิตแรงงานและคนจนเมือง โดยมีข้อเสนอให้ลดความเหลื่อมล้ำด้านแรงงานด้วยการเพิ่มรายได้ เพิ่มผลิตภาพหรือประสิทธิภาพแรงงาน และเพิ่มสวัสดิการให้แรงงาน ซึ่งยึดเป้าหมายหลักในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะแรงงานที่เป็นลูกจ้างยากจน

รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวถึงปัญหาคุณภาพชีวิตแรงงานไทยขณะนี้ แรงงานหรือคนทำงาน ไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบ ต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูคนประมาณ 2 คน คือตนเองและคนอื่นอีกอย่างน้อย 1 คน ทั้งที่ความเป็นจริงด้วยภาระงานและค่าตอบแทนขั้นต่ำ ลำพังจะดูแลตนเองก็ลำบากแล้ว ประกอบกับโครงสร้างสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยแล้ว ที่จะมีแรงงานปลดเกษียณมากขึ้น ทำให้แรงงานปัจจุบันควรจะต้องมีรายได้สูงขึ้นเพียงพอที่จะดูแลคน 2 คนได้อย่างเหมาะสม

“กำลังซื้อในตลาดกว่าร้อยละ 42 ของกำลังซื้อทั้งหมด มาจากกำลังซื้อที่มาจากค่าจ้างเงินเดือนของคนกลุ่มแรงงานหรือกลุ่มคนทำงานทั้งสิ้น ฉะนั้น การเพิ่มค่าจ้าง จึงไม่ใช่เพียงยกระดับฐานะการครองชีพของกำลังแรงงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับกำลังซื้อในประเทศ” กรรมการ คสป. กล่าว และว่า โดยเฉพาะการแข่งขันของสินค้าไทยกับต่างประเทศ ไม่ว่าจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย จะต้องแข่งด้วยคุณภาพสูงขึ้น ดังนั้นต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของกำลังแรงงานด้วยการเพิ่มโอกาสให้แรงงานมีอำนาจต่อรองและเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน

กรรมการคสป. กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ถูกครอบงำด้วยการค้าและอุตสาหกรรม จีดีพีนอกภาคเกษตรสูงถึง 90% ขณะที่ภาคเกษตรเหลือพียง 10% มีกำลังแรงงานที่เป็นลูกจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมดประมาณ 17 ล้านคน ขณะที่เกษตรกรที่ไม่ใช่ลูกจ้างอีกประมาณ 12 ล้านคน เป็นเกษตรยากจนและคนงานพื้นฐานที่มีรายได้ต่ำ คือคน 2 ประเภทที่เป็นกำลังแรงงานที่ยังด้อยสิทธิ ด้อยโอกาส ไร้อำนาจ และขาดศักดิ์ศรีในสังคม ดังนั้นการลดความเหลื่อมล้ำจึงต้องคำนึงถึงสถานะของมนุษย์ค่าจ้างรายได้ต่ำ ที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศในปัจจุบัน เคียงคู่ไปกับการพิจารณาสถานภาพของเกษตรกรยากจน

“ประมาณร้อยละ 60 ของคนงานทั้งประเทศมีรายได้ประจำไม่ถึงเดือนละ 6,000 บาท ขณะที่การใช้ชีวิตในเมืองในเขตอุตสาหกรรม การดำรงชีพทุกอย่างต้องใช้เงิน และยังต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งส่งให้พ่อแม่และลูกในชนบท ทำให้คนงานเหล่านี้ต้องทำงานวันละ 10-12 ชม.เพื่อให้มีรายได้จากการทำงานล่วงเวลา”

รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวถึง 3 ยุทธศาสตร์ในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่แรงงาน ยุทธศาสตร์แรก คือ การเพิ่มค่าจ้างหรือเพิ่มรายได้ ซึ่งเสนอให้ปรับ 2 มิติ โดยมิติแรกต้องทำให้ลูกจ้างไร้ฝีมือหรือคนงานพื้นฐานต้องมีค่าจ้างวันละประมาณ 250 บาท ถ้าได้ค่าจ้างวันละ 250 บาท ทำงานเดือนละประมาณ 26 วัน จะทำให้ลูกจ้างกลุ่มนี้มีรายได้ขั้นต่ำเดือนละประมาณ 6,500 บาท ซึ่งปัจจุบันลูกจ้างส่วนใหญ่ได้ไม่ถึง 6,000 บาท อีกทั้งยังต้องดิ้นรนทำงานล่วงเวลา 2-4 ชม.เพื่อให้ได้เงินเดือนละ 6,500-7,000 บาท

“ตามมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ กำหนดให้ลูกจ้างไม่ควรทำงานเกินวันละ 8 ชม.และค่าจ้างวันละ 400 บาท เพื่อให้สามารถมีเวลาดูแลครอบครัวได้อีก 2 คน และมิติถัดมา เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงานไทย ต้องทำให้เกิดการให้ค่าตอบแทนที่คิดจากค่าจ้างขั้นต่ำบวกกับค่าทักษะและฝีมือแรงงานด้วย”

กรรมการคสป. กล่าวถึงยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน โดยเพิ่มความรู้พื้นฐานยกระดับการศึกษาให้ลูกจ้าง ตามที่มาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศกำหนดให้ลูกจ้างควรทำงานวันละ 8 ชม. พักผ่อน 8 ชม. และศึกษาหาความรู้พัฒนาตนเองอีก 8 ชม. รวมทั้งเสนอให้เพิ่มความรู้และทักษะในอาชีพให้ลูกจ้าง เช่น การพัฒนาฝีมือแรงงานไม่จำเป็นต้องพึ่งหน่วยงานรัฐอย่างเดียว รัฐควรทำหน้าที่กำกับดูแลอำนวยความสะดวก ด้วยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานให้ธุรกิจกู้ไปพัฒนาแรงงานได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 3-5% เป็นต้น

“การทำให้แรงงานมีความรู้พื้นฐานดีและมีทักษะฝีมือมีผลต่อการเพิ่มผลิตภาพ และประสิทธิภาพงาน ทำให้การขึ้นค่าจ้างสูงขึ้นไม่สร้างปัญหาด้านต้นทุนให้กับนายจ้าง และการเพิ่มผลิตภาพก็มิได้หมายความว่าเฉพาะเพิ่มปริมาณและคุณภาพของงานเดิมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการที่คนงานสามารถไปทำงานอื่น ที่ต้องใช้ความสามารถเพิ่มขึ้นได้ ค่าตอบแทนสูงขึ้นด้วย”

สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มสวัสดิการแรงงาน รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ต้องทำให้เกิดภาวะกินดี อยู่ดี มีสุข คนงานพอจะดำรงชีวิตสะดวกสบายตามอัตภาพ ไม่ว่าแรงงานในหรือนอกระบบ ด้วยการเพิ่มรายได้ทางตรงคือเพิ่มค่าจ้าง และเพิ่มรายได้ทางอ้อมคือเพิ่มสวัสดิการ โดยเสนอให้รัฐจัดสวัสดิการ เช่น บริการการศึกษาฟรี บริการสาธารณสุขฟรีให้แก่แรงงานและบุตรธิดาแบบถ้วนหน้า ขณะเดียวกันบริษัทธุรกิจเอกชนควรจัดสวัสดิการ เช่น หอพักราคาถูก อาหารฟรี รถรับส่งฟรี ให้ แม้บริษัทจะไม่ขึ้นค่าจ้าง แต่ก็มีทางเลือกด้วยการเพิ่มสวัสดิการเหล่านี้ให้ลูกจ้างได้เช่นกัน

รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า สวัสดิการลูกจ้างเรื่องประกันสังคม ก็ได้เสนอให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดชอบร่วมกับลูกจ้าง โดยมีรัฐเป็นผู้ออกกฎคอยกำกับและร่วมสร้างสรรค์จัดให้มีประกันสังคมถ้วนหน้า, รัฐควรส่งเสริม ไม่ว่าลูกจ้าง เกษตรกร และอาชีพอิสระ ก็ควรจะเข้าถึงประกันสังคม ขณะเดียวกันเรื่องการสังคมสงเคราะห์บุคคลที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ภาคธุรกิจเอกชน ชุมชน องค์การกุศลก็ควรมีบทบาทร่วมกับรัฐด้วย และเสนอให้มีการสนับสนุนการรวมตัวสร้างเครือข่ายของแรงงาน ซึ่งหมายถึงคนทำงาน ไม่ใช่เฉพาะลูกจ้างแรงงาน สร้างกลไกอำนาจต่อรองจากฐานความรู้และทักษะฝีมือ สร้างอำนาจต่อรองจากการจัดตั้งและจัดการรวมตัวเป็นองค์กรตาม ม. 64 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งอำนาจต่อรองหลัก คือทำให้เกิดการเพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการที่เป็นจริง

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th

?

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕ พ.ย. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เปิดตัว HOP NextGen ชวนนักศึกษาเยี่ยมชม ฮ็อป อินน์ เรียนรู้เทคนิคบริการแบบ Consistency is Yours พร้อมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่
๑๕ พ.ย. คิง เพาเวอร์ ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี เปิดแคมเปญ THE POWER OF FUNTASTIC CELEBRATION 2025 ฉลองทุกความสุข สนุกไม่รู้จบ
๑๕ พ.ย. พันธุ์ไทย ชวนแฟนด้อม คัลแลนและพี่จอง จุ่ม การ์ดพันธุ์ไทยใจฟู ลิมิเต็ด อิดิชั่น
๑๕ พ.ย. BAM ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ DIGITAL ENTERPRISE ตอกย้ำผู้นำ AMC ยุค 4.0 วางเป้าหมายยกระดับองค์กรสร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เตรียมส่ง อิสระ เดอะซีรีส์ ชวนลูกหนี้ BAM
๑๕ พ.ย. บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก จาก SP Global 2024 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil Gas Refinery and
๑๔ พ.ย. ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ออกบูธให้ความรู้เรื่องการใช้งานระบบดับเพลิงนร. พระหฤทัยนนทบุรี
๑๒ พ.ย. พนักงานซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล รับรางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดีเด่น
๑๕ พ.ย. PROSPECT REIT ชูไตรมาส 3/67 โตเกินเป้า อัตราการเช่าพุ่งนิวไฮ หนุนจ่ายปันผลเด่น 0.2160 บาท
๑๕ พ.ย. CHAO ประกาศงบ Q3/67 กำไรพุ่งกว่า 62% รับตลาดส่งออกพีค จีนโตเด่น แย้ม Q4 เดินหน้าบุกตลาดในประเทศ สินค้าใหม่หนุนยอดขายปลายปี
๑๕ พ.ย. ฉลองเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ