ก.ล.ต. ร่วมกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุนสนับสนุนธุรกิจเงินร่วมลงทุน มุ่งส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในประเทศ

พฤหัส ๐๗ ตุลาคม ๒๐๑๐ ๑๕:๐๗
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวภายหลังการประชุมประจำไตรมาสกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุนถึงความคืบหน้าในเรื่องการพัฒนาธุรกิจจัดการลงทุน การยกระดับหลักเกณฑ์การลงทุนให้เป็นสากล รวมถึงการให้คำแนะนำและการขายหน่วยลงทุน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ลงทุนและธุรกิจจัดการลงทุนโดยรวม โดยมีเรื่องที่สำคัญดังนี้

1. ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) ก.ล.ต. แจ้งให้สมาคมทราบถึงแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) เพื่อขจัดอุปสรรคและขยายขอบเขตการลงทุนให้สามารถทำได้กว้างขวางขึ้น ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีในภาคธุรกิจมีการพัฒนาและเติบโต เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

เนื่องจาก VC เป็นธุรกิจที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หลักเกณฑ์เรื่องนี้เดิมจึงจำกัดประเภทธุรกิจที่ VC จะลงทุนได้ว่าต้องเป็น SMEs ที่มีลักษณะตามที่กำหนดเท่านั้น และยังกำหนดเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการลงทุนและการถอนเงินลงทุนไว้อย่างเคร่งครัด ทำให้ธุรกิจ VC ในประเทศไทยไม่เติบโตเท่าที่ควร

สำหรับหลักการที่ ก.ล.ต. แจ้งให้สมาคมทราบในวันนี้ได้ผ่านการหารือกับกรมสรรพากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้ว โดยต่อไปบริษัทจัดการร่วมลงทุน (บลท.) ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ VC จะขยายขอบเขตการลงทุนได้กว้างขวางมากขึ้น (ขยายเป็น Private Equity (PE)) โดยหาก VC ลงทุนในกิจการที่รัฐสนับสนุนเกินกว่า 70% VC จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งในเบื้องต้นได้วางแนวสำหรับกิจการที่รัฐสนับสนุนไว้ ได้แก่ เป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานและอยู่ในประเภทอุตสาหกรรมที่ภาครัฐต้องการสนับสนุนโดยกองทุนต้องขึ้นทะเบียนกับ ก.ล.ต. ภายในปี 2557 มีขนาดกองทุนขั้นต่ำ 20 ล้านบาท และจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่เกิน 10 ปี เป็นต้น

2. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวมให้มีการกระจายความเสี่ยงมากขึ้นที่ประชุมได้มีการหารือกันถึงการปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวม โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยในระยะแรก ก.ล.ต. จะปรับปรุงหลักเกณฑ์อัตราส่วนการลงทุนในส่วนของ company limit ให้เกิดการลงทุนที่กระจายตัวมากขึ้น โดยกองทุนรวมจะลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่งได้ไม่เกิน 15% ของ NAV (เดิมไม่เกิน 15-25%) และในอนาคตจะมีการทบทวนและพิจารณาให้มีการกระจายการลงทุนยิ่งขึ้นกว่านี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลต่อไป

3. เน้นย้ำ บลจ. และผู้ขายหน่วยลงทุนเตรียมความพร้อมการขายหน่วยลงทุนที่เหมาะสมกับลูกค้า (suitability) เนื่องด้วยหลักเกณฑ์การขายหน่วยลงทุนที่มีความเหมาะสมกับผู้ลงทุนจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ก.ล.ต. และสมาคมจึงขอเน้นย้ำให้ บลจ. และผู้ขายหน่วยลงทุนทั้งบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ LBDU ซึ่งได้แก่ ธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกัน เร่งเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับระบบงานและบุคลากร ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางในการเปิดเผยระดับความเสี่ยง (risk spectrum) ของกองทุนรวม หลักเกณฑ์ในการจัดระดับความเสี่ยงของการลงทุนในกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ ทำความเข้าใจและจัดทำแบบสอบถาม รวมถึงหลักเกณฑ์ในการประเมินผลจากแบบสอบถาม เพื่อทำความรู้จักลูกค้าและประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของลูกค้า (suitability) ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยในการให้คำแนะนำและขายหน่วยลงทุนให้แก่ลูกค้าได้อย่างเหมาะสม

นายธีระชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “ก.ล.ต. ได้แจ้งให้สมาคมทราบถึงนโยบายของ ก.ล.ต. ที่จะยกระดับหลักเกณฑ์ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลและส่งเสริมให้สามารถขยายการประกอบธุรกิจได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดการและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ บลจ. รองรับการเปิดเสรีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ก.ล.ต. จึงได้แก้ไขหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุนและจะนำหลักเกณฑ์มาตรฐานสำหรับกองทุนที่สามารถเสนอขายข้ามประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (Undertakings for Collective Investment in Transferable Securities: UCITS) มาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวมุ่งคุ้มครองผู้ลงทุน มีความเป็นสากล และได้รับความนิยมจากหน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่งในเอเชีย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ บลจ. ก.ล.ต. จึงจะจัดอบรมความรู้ให้แก่ บลจ. ในเร็ว ๆ นี้ด้วย”

นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า “ สมาคมเห็นด้วยกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมกับสภาพตลาดของไทยและเป็นมาตรฐานสากลที่ดีในที่สุด ซึ่งจะรองรับการเชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาค การซื้อและขายหลักทรัพย์ข้ามชาติ และโอกาสที่จะมากับการเปิดเสรีใบอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่กำลังมาถึง และสำหรับการทำความรู้จักลูกค้า และการขายหน่วยลงทุนให้เหมาะสมกับลูกค้า สมาคมได้เห็นประโยชน์และให้ความสำคัญอย่างมาก จึงได้ทำการซักซ้อมความเข้าใจกับสมาชิกตลอดมา และโดยที่กระบวนการเตรียมตัวในเรื่องนี้จะต้องใช้เวลา ดังนั้น บลจ. และ LBDU ที่ยังไม่ได้ดำเนินการจึงควรเริ่มเตรียมความพร้อมได้แล้ว เพื่อให้มีระบบงานและเอกสารที่พร้อมรวมถึงบุคลากรที่มีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวทันก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ทั้งนี้ สมาคมก็ได้มีการหารือกันถึงวิธีดำเนินการที่จะทำให้ผู้ลงทุนตระหนักถึงประโยชน์ของการให้ข้อมูลเพื่อประกอบการประเมิน suitability และรู้สึกว่าไม่เป็นภาระแก่ผู้ลงทุนจนเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจลงทุน”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม