นายกรัณย์พล อัศวสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการวงจรสื่อสารความเร็วสูงระดับแนวหน้าของประเทศไทย ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สอง ซึ่งมีโครงข่ายเป็นของตนเอง เปิดเผยผลการดำเนินงานประจำงวด 6 เดือนแรกของปี 2553 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ว่าบริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการให้เช่าวงจรจำนวน 260.34 ล้านบาท ถือเป็นรายได้ที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 10.46 หลังจากบริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าเดิม ในการใช้บริการ รวมถึงมีการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และมีอัตรากำไรขั้นต้น (Margin) ร้อยละ 70.38 ซึ่งถือว่าเป็นอัตรากำไรขั้นต้นที่สูง ส่งผลให้ในงวดดังกล่าวบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 100.77 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 35.53
"ถ้าดูจากทั้งรายได้และกำไรจะพบว่าบริษัทฯ มีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2550 บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการให้เช่าวงจรจำนวน 156.48 เพิ่มขึ้นเป็น 425.89 ล้านบาทในปี 2551 และเพิ่มขึ้นเป็น 481.01 ล้านบาทในปี 2552 ส่วนครึ่งแรกของปี 2553 อยู่ที่ 260.34 ล้านบาท ในขณะที่กำไรสุทธิก็เติบโตขึ้น ในทิศทางเดียวกัน โดยในปี 2550 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 74.51 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 184.85 ล้านบาท ในปี 2551 จากนั้นได้ขยายตัวเป็น 192.24 ล้านบาทในปี 2552 ส่วนในครึ่งแรกของปี 2553 เราทำได้ 100.77 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตทั้งหมด เป็นผลมาจากเราขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความไว้วางใจของลูกค้าที่ปัจจุบัน "ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น" ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่เน้นให้บริการโครงข่ายคุณภาพสูงแก่ลูกค้า และรับประกันคุณภาพของงานด้วย Service Level Agreement (SLA) ที่ 99.9% ทำให้ลูกค้ามั่นใจถึงคุณภาพของโครงข่าย นอกจากนี้บริษัทฯ ยังยึดมั่นความเป็นกลางในการให้บริการ โดยเน้นการให้เช่าวงจรสื่อสารความเร็วสูงเป็นหลัก ไม่มีธุรกิจที่แข่งขันกับลูกค้าโดยตรง ทำให้ลูกค้าไว้วางใจและเลือกใช้บริการวงจรสื่อสารความเร็วสูงของบริษัทฯ"
เขากล่าวต่อถึงแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในครึ่งปีหลังว่า ยังมีทิศทางที่ดี โดยคาดว่ายังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ซึ่งในปีนี้บริษัทฯ ได้วางเป้าหมายรายได้จากการให้บริการให้เช่าวงจรเติบโตต่อเนื่องทั้งในส่วน Metro Ethernet และ Ready Ethernet แม้ไม่มีเรื่องเทคโนโลยี 3G เข้ามาเกี่ยวข้อง บริษัทฯ มีแผนขยายโครงข่ายพื้นที่บริการไปยังเขตนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นพื้นที่บริการพิเศษที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าเดิมของบริษัทที่มีโรงงานตั้งในนิคมอุตสาหกรรมและกลุ่มลูกค้าต่างชาติ นอกจากนี้ บริษัทฯ เตรียมพัฒนาระบบโครงข่ายใยแก้วนำแสงตามอาคารสำนักงาน (Ready Ethernet) ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลมากขึ้น โดยได้ติดตั้งโครงข่ายใยแก้วนำแสงตามอาคารสำนักงานชั้นนำแล้วจำนวน 28 อาคาร และอยู่ระหว่างวางแผนเจรจากับเจ้าของอาคารสำนักงานอื่นๆ อีกหลายอาคารเพื่อให้มีพื้นที่บริการครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นได้ในอนาคตจากการที่บริษัทฯ ขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดอื่นๆ เช่น Digital Broadcast, Private Network ที่การแข่งขันยังมีไม่สูงมากนักในขณะที่ความต้องการโครงข่ายวงจรสื่อสารความเร็วสูงยังมีอยู่ค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต บริษัทฯ ได้เตรียมเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้นจำนวน 300,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 300,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยมีทุนที่ชำระแล้วเท่ากับ 225,000,000 บาท หรือเท่ากับ 225,000,000 หุ้น โดยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนี้ บริษัทฯ เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนทั้งสิ้น 75,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 25 ของทุนชำระแล้วภายหลังเสนอขายหุ้น โดยจะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 3 ล้านหุ้น เสนอขายให้แก่ พนักงานของบริษัทฯ ขณะที่หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 72 ล้านหุ้น บริษัทฯ จะเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)
“การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จะทำให้การขยายธุรกิจของบริษัทฯ มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งบริษัทฯ มีเป้าหมายมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ให้บริการวงจรสื่อสารความเร็วสูงชั้นนำที่มีความเป็นกลาง โดยให้บริการทั้งวงจรสื่อสารที่เชื่อมต่อภายในประเทศและเชื่อมต่อไปต่างประเทศ เพื่อให้สามารถสนองตอบต่อความต้องการ ของลูกค้าได้หลากหลายประเภทธุรกิจให้ได้มากที่สุด และมีผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทได้ตั้งเป้าหมายให้บริการกับกลุ่มลูกค้าบริษัทข้ามชาติในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคกลางและภาคตะวันออก โดยจะดำเนินติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ 11 นิคมอุตสาหกรรมภายในปี 2556 เป็นผู้นำโครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงตามอาคารสำนักงาน (Ready Ethernet) โดยจะติดตั้งระบบโครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงภายในพื้นที่อาคารสำนักงานชั้นนำในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 150 อาคารภายในปี 2556 และมีเป้าหมายในการขยายพื้นที่บริการ Metro Ethernet ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้บริการของลูกค้ากลุ่มบริษัทหรือนิติบุคคล ในเขตกรุงเทพฯ ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ80 ภายในปี 2556” นายกรัณย์พลกล่าว