นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2553 ได้มีเหตุการณ์และปัจจัยหลายประการที่ส่งผลกระทบทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทาน ของสินค้าเกษตรหลายชนิดในโลก โดยจะมีผลทำให้สินค้าเกษตรโลกมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2554 ทั้งนี้รวมถึงสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็จะมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ฯลฯ ภายใต้ห่วงโซ่อุปทานเช่นนี้ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น แต่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นนี้ไม่ได้เชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญกับราคาสินค้าปศุสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่ และกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรไม่ควรวางแผนเพิ่มผลผลิตเพื่อหวังประโยชน์จากการที่สินค้าเกษตรโลกมีทิศทางราคาสูงขึ้น ทั้งนี้เพราะทั้งไข่ไก่และสุกรเป็นอาหารที่บริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งอาจประสบปัญหาสินค้าล้นตลาดและขาดทุนได้ในที่สุด
เนื่องจากเป็นเพราะว่าการที่สินค้าเกษตรโลกราคาสูง ไม่ได้หมายความว่าสินค้าเกษตรทุกชนิดจะมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย การวางแผนเพิ่มผลผลิตสินค้าปศุสัตว์อาจประสบปัญหาล้นตลาดและขาดทุนได้ โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุกร และไก่ไข่ ซึ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวกับปากท้องของประชาชน หากมีราคาสูงรัฐบาลก็จะต้องเข้ามาควบคุมราคา ดังนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่และสุกรก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากการที่สินค้าเกษตรโลกมีราคาสูงขึ้นแต่อย่างใด
นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวด้วยว่า พืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ส่วนใหญ่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวโพด สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวโพดรายใหญ่ที่สุดของโลกผลิตข้าวโพดลดลง โดยล่าสุดราคาตลาดชิคาโกสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตข้าวโพดของสหรัฐอเมริกาต่ำลงกว่าที่คาดหมาย เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ลดลง โดยในปี 2553/2554คาดว่าสหรัฐฯจะได้ผลผลิตข้าวโพด 321.68 ล้านตันลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 12 ล้านตัน หรือ เท่ากับลดไป 3.6% นอกจากนี้สต็อคข้าวโพดของสหรัฐฯในปีนี้จะเหลือ 33.9 ล้านตัน โดยมี Stock-To-Use ลดเหลือเพียง 6.7% ซึ่งที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้คือ 8.3% กล่าวได้ว่าเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปีของสหรัฐฯ ทั้งนี้เคยลดลงต่ำสุด 9.3% เมื่อปี 2546/2547
นอกเหนือจากนี้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น เพราะพื้นที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากเกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลังแทนเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเอทานอล ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงสูงขึ้นเพราะผลผลิตมีน้อยกว่าความต้องการ
ด้านข้าวสาลี ปี2553/2554ผลผลิตข้าวสาลีโลกลดเหลือ 641 ล้านตันต่ำกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งมีผลผลิต 682 ล้านตัน และสต็อคข้าวสาลีโลกเมื่อถึงสิ้นปี 2553 จะเหลือเพียง 175 ล้านตันต่ำกว่าปีที่แล้วถึง 21 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตข้าวสาลีในหลายประเทศลดลง ได้แก่ รัสเซียลดลงเหลือ 42.5 ล้านตัน(จากเดิม 61.7ล้านตัน) ยูเครนลดลงเหลือ 17 ล้านตัน(จากเดิม 20.9ล้านตัน) และคาซักสถานลดลงเหลือ 11.5 ล้านตัน(จากเดิม 17 ล้านตัน) ถั่วเหลือง ในปี2553/2554 ผลผลิตถั่วเหลืองได้ 92.8 ล้านตัน สูงกว่าปีที่ผ่านมา 1.5% โดยสต็อคปรับลดเหลือ 61.4 ล้านตัน(จากเดิม 60.4ล้านตัน) กรณีถั่วเหลือง เกษตรกรผู้ปลูกได้ประโยชน์จากราคาเมล็ดถั่วเหลืองที่สูงขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตามสถานการณ์สินค้าเกษตรราคาสูงเป็นโอกาสที่ดีต่อเกษตรกรไทยและประเทศไทย ภาครัฐฯ ควรส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าพืชเกษตรได้ประโยชน์จากสภาวะราคาที่สูงขึ้นอย่างเต็มที่ รวมทั้งยังคงต้องให้ความสำคัญถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและในระบบลอจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง