“ปลาเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูง ย่อยง่าย มีโอเมก้า3 หรือ กรดไขมันจำเป็น (Essential Fatty acid) ที่ร่างกายต้องการเนื่องจากมีประโยชน์ต่อร่างกาย หัวใจ และสมอง แต่ปัจจุบันคนไทยยังบริโภคปลา 30 กิโลกรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น ในจำนวนนี้แบ่งเป็นปลาทะเล 20 กิโลกรัม และปลาน้ำจืด 10 กิโลกรัม ขณะที่ญี่ปุ่นบริโภคถึง 69 กิโลกรัมต่อคนต่อปี กลุ่มสแกนดิเนเวีย บริโภคถึง 45 กิโลกรัมต่อคนต่อปี” นายศักดิ์กล่าวและว่า
สาเหตุที่คนไทยบริโภคปลาน้ำจืดน้อย เป็นเพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าโอเมก้า 3 มีเฉพาะในปลาทะเล และคิดว่าปลาน้ำจืดของไทยที่เพาะเลี้ยงกันภายในประเทศอาจปนเปื้อนสารตกค้าง แต่ในความเป็นจริงจากการทำวิจัยในประเทศไทย พบว่าปลาน้ำจืดก็มีโอเมก้า 3 สูง บางประเภทสูงกว่าปลาทะเล เช่น ปลาสวายเนื้อขาว มีโอเมก้า 3 สูงถึง 2,570 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม ปลาช่อนมีโอเมก้า 3 ถึง 870 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม รวมทั้งปลาทับทิมก็มีโอเมก้า 3 อยู่เช่นกัน ขณะที่ปลาแซลมอลมีโอเมก้า 3 ประมาณ 1000-1,700 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม ขณะที่ ด้านการเพาะเลี้ยงนั้น ทางกรมประมงได้มีการพัฒนาโครงการรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมาตั้งแต่ปี 2546 โดยรับรองมาตรฐานขั้นปลอดภัย (safety level) และมาตรฐานการปฏิบัติทางประมงที่ดี (GAP) ซึ่งมั่นใจได้ว่าปลาน้ำจืดไทยมีคุณภาพและปลอดภัยต่อการบริโภค
นายศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ปลาน้ำจืดส่วนใหญ่ยังมีราคาต่ำกว่าปลาทะเล ในภาวะที่น้ำมันมีราคาแพง สินค้าราคาสูง จึงได้ร่วมกันรณรงค์ให้คนไทยบริโภคปลา โดยเฉพาะปลาน้ำจืดภายในประเทศ เพื่อลดการบริโภคปลานำเข้า
ทั้งนี้ สำหรับแผนการรณรงค์ในโครงการดังกล่าว จะมีการจัดกิจกรรมโรดโชว์ให้ความรู้ทางวิชาการตามโรงพยาบาลและสถานศึกษา กิจกรรมสัมมนาวิชาการร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกิจกรรมอบรมหลักสูตรระยะสั้นร่วมกับสถาบันอาหารชั้นนำ ได้แก่ โรงเรียนการอาหารนานาชาติสวนดุสิต จัดอบรม และ Work Shop เมนูปลาสุขภาพ เป็นต้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย
โทร. 02-6618962, 02-6731115