สำนักผู้แทนการค้าไทย กระทรวงการต่างประเทศ และศูนย์ SEA-LAC Trade Center มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัมมนา หัวข้อ “Latin Business Forum 2010” เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยการประชุมสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการรวมตัวของผู้แทนระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในกลุ่มอาเซียนและลาติน-อเมริกา เพื่อให้ความรู้และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทย อาเซียน และกลุ่มประเทศลาติน-อเมริกา โดยหวังว่า การประชุมสัมมนาครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มในการพัฒนาเป็น Annual Platform ต่อไป เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิภาคลาตินอเมริกา ในฐานะเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงที่จะเป็นแหล่งทรัพยากร ตลาดการค้าการลงทุนแห่งใหม่ของไทย และเป็นสะพานเชื่อมทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาคอื่นที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคลาตินอเมริกา รวมทั้งมีส่วนช่วยในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจโลก
การจัดงานครั้งนี้จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ น. — ๑๘.๑๕ น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน เวลา ๐๙.๐๐น.-๐๙.๑๕ น. ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ไทยมีต่อภูมิภาคลาตินอเมริกา และความตั้งใจจริงในการพัฒนาความสัมพันธ์เชิงลึกด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายของผู้ร่วมงานฯ ไว้ ๕ กลุ่ม ได้แก่ ตัวแทนจากภาครัฐ ตัวแทนจากภาคเอกชน ตัวแทนจากภาคการศึกษา ตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ และสื่อมวลชน
วัตถุประสงค์หลักของการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ คือ ๑) เพื่อพัฒนาเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างสองภูมิภาคในภาครัฐ เอกชน และการศึกษา พร้อมทั้งสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ๒) เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ทางการค้าการลงทุน สำหรับการวางแผนงานและพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันต่อไปในอนาคต ๓) เพื่อกระตุ้นความสนใจ ความรู้ ความเข้าใจทางทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการค้า และความเป็นไปได้ในการทำการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา และสื่อมวลชน ๔) เพื่อร่วมกันหาแนวทางในเปิดตลาด และกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมในการทำการค้าการลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ ๕) เพื่อเตรียมความพร้อมกับการเปิดเสรีทางการค้าโลกในระดับภูมิภาคและระดับประเทศระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
การประชุมสัมมนาฯ จะแบ่งเป็น ๔ ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่ ๑) ผู้นำทางด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนจากทั้งฝั่งลาตินอเมริกา และอาเซียน จะมาเปิดเผยถึงนโยบายทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาค และแนวโน้มทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ส่วนที่ ๒) ผู้เชี่ยวชาญทางนโยบายการค้าเสรีจากทั้งอาเซียนและลาตินอเมริกา จะมาให้มุมมองถึงการปรับใช้ FTA กับการพัฒนากลยุทธ์การค้า พร้อมกับโอกาสและอุปสรรคที่สามารถเกิดขึ้นในการทำการค้าระหว่างสองภูมิภาค ส่วนที่ ๓) การให้ความรู้ศักยภาพทางการลงทุนระหว่างสองภูมิภาค ที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม และส่วนที่ ๔) นักธุรกิจชั้นนำผู้ผ่านประสบการณ์ทางการค้าระหว่างสองภูมิภาคจะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของการพัฒนาธุรกิจการศึกษา โดยจะเน้นถึงวิธีรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมกับการให้ความรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์ที่เหมาะสมของการเปิดตลาดในลาตินอเมริกา และ กลยุทธ์ในการแข่งขันเพื่อเพิ่มการขับเคลื่อนทางการค้า
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดการสัมมนาครั้งนี้ คือ ๑) จะมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างสองภูมิภาคนี้มากขึ้น บนพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ๒) เกิดเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างสองภูมิภาค ๓)มีการแลกเปลี่ยนกิจกรรมและความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรม และการศึกษาระหว่างสองภูมิภาคมากขึ้น ๔) มีการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความเรู้ในด้านต่างๆ ระหว่างสองภูมิภาคมากขึ้นในทุกระดับได้แก่ ระดับรัฐ ระดับองค์กร ระดับธุรกิจ และ ระดับประชาชน
หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา จำนวน ๗ ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา เม็กซิโก ปานามา คิวบา บราซิล ชิลี และเปรู กระทรวงการต่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย ASEAN Foundation และธนาคาร Inter-American Development Bank (IDB) นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ได้แก่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บริษัท Hunton&Williams ประจำสำนักงานกรุงเทพฯ บริษัทเบทาโกร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บริษัทสมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด บริษัทโอสถสภา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทแอร์โรคลาส จำกัด บริษัทง่วนสูน จำกัด บริษัทสแปน มารีน จำกัด บริษัท Kovic Kate (international) จำกัด และบริษัทไท้เฮง แมชชีนนารี จำกัด