ทั้งนี้ วว. ได้รับมอบหมายจาก คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอบให้ดำเนินการโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างบ้านด้วยบล็อกประสาน วว. ในหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จังหวัดกระบี่ โดยมีวัตถุประสงค์โครงการเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตบล้อกประสาน วว. ให้แก่ชุมชนบ้านเกาะกลาง จังหวัดกระบี่ และเพื่อสร้างทักษะในการก่อสร้างอาคารด้วยบล็อกประสานไว้ใช้ในชุมชน โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมเพื่อเป็นการฝึกปฏิบัติจริง
โครงการดังกล่าวมีพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างให้กับชาวบ้าน ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ และพื้นที่ใกล้เคียง โดยสร้างเป็นอาคารสาธิตการก่อสร้างอาคารด้วยบล็อกประสาน วว. สำหรับใช้เป็นอาคารการเรียนรู้การผลิตผ้าปาเต๊ะ ทดแทนอาคารหลังเดิม ซึ่งได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติสึนามิ เมื่อปี พ.ศ. 2547
บล็อกประสาน วว. เป็นวัสดุก่อสร้างอีกชนิดหนึ่ง ที่มีราคาประหยัดและเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้งในด้านราคาค่าก่อสร้างและความสวยงามเป็นธรรมชาติของอาคาร เนื่องจากเป็นวัสดุก่อสร้างที่ได้จากดินลูกรังและปูนซีเมนต์เป็นส่วนประกอบหลัก จึงมีความแข็งแรงและมีสีสันสวยงามเหมือนธรรมชาติ
ราคาค่าก่อสร้างของบล็อกประสาน จะประหยัดกว่าอาคารที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กโดยทั่วไปประมาณ 15-20% เนื่องจากจะช่วยลดปริมาณการใช้วัสดุก่อสร้าง ลดงานตกแต่งผิวของอาคาร ลดระยะเวลาในการก่อสร้าง หรือสร้างได้เร็วขึ้น ช่วยให้ประหยัดค่าแรงงานลงได้ และช่วยลดภาระการส่งดอกเบี้ยในแต่ละเดือน อันเป็นผลจากการก่อสร้างได้รวดเร็ว
นอกจากนั้นอาคารที่ทำการก่อสร้างด้วยบล็อกประสาน ยังสามารถช่วยลดการเกิดสภาวะโลกร้อน ด้วยการลดปริมาณในการใช้เหล็ก ปูนซีเมนต์ อีกทั้งตัวบล็อกประสานยังเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการอบ ไม่มีการเผา และไม่ใช้สารเคมีในการผลิต
ทั้งนี้ การเข้าไปใช้ประโยชน์หรืออยู่อาศัยในอาคารบล็อกประสานนั้น จำเป็นต้องมีการออกแบบอาคารที่ดีและถูกต้อง เพราะการออกแบบอาคารที่ดีและถูกต้องนั้น จะทำให้ผู้ใช้อาคารเกิดสภาวะสบาย ในฤดูร้อนก็จะช่วยลดความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร ฤดูหนาวก็จะเกิดความอบอุ่น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมบล็อกประสาน วว. ได้ที่ ฝ่ายนวัตกรรมวัสดุ วว. โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 ในวันและเวลาราชการ หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.technologyblockprasan.com