กรรมการกทช. ยังกล่าวถึงปัญหาระบบการให้ข้อมูลและการเตือนภัยล่วงหน้าของการเกิดน้ำท่วมในครั้งนี้ที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่ายังไม่ดีพอว่า กทช.เห็นด้วยว่าคงจะต้องมีการปรับปรุงกันใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเพราะที่ผ่านมาการเตือนภัยธรรมชาติมักจะเตือนผ่านทางสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุ แต่ในปัจจุบันนี้คนไทย 60 ล้านคนมีโทรศัพท์มือถือใช้กันอยู่แล้วรวมทั้งมีการใช้ระบบอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยก็ควรจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวในการให้ข้อมูลข่าวสารแบบถึงตัว เช่น ข้อมูลการพยากรณ์อากาศ ปริมาณน้ำฝน สถานการณ์น้ำล่าสุด การเตรียมตัวป้องกันภัยพิบัติ และการเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กทช.มีนโยบายในเรื่องการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงไปยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆอยู่แล้ว เช่น โรงเรียน สถานีอนามัย โรงพยาบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น ส่วนเรื่องของการจัดทำเนื้อหาและข้อมูลการเตือนภัยก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปจัดระบบกันเองว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว
“จากปัญหาน้ำท่วมที่ทำความเสียหายให้กับโรงพยาบาลและโรงเรียนเป็นอย่างมากนั้น กทช.ถือว่าทั้งสองหน่วยงานจะเป็นภารกิจเร่งด่วนลำดับแรกที่เราจะเร่งดำเนินการให้บริษัทผู้ให้บริการจัดให้มีอินเตอร์เน็ตโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายโดยเร็วเพราะการบริการข้อมูลให้เท่าเทียมกันเป็นหัวใจของการบริการโทรคมนาคมโดยทั่วถึงอยู่แล้ว” นายสุรนันท์ กล่าว.