นางธนิฏฐา เศวตศิลา มณีโชติ เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันในเชิงปฏิบัติการ ดังนี้ 1)จัดส่งเจ้าหน้าที่ในสังกัดลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยโดยทันที คือ สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชัยภูมิ สุโขทัย สุพรรณบุรี อ่างทอง มหาสารคาม กรุงเทพฯ โรงเรียนกีฬาจังหวัดอ่างทอง นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ขอนแก่น กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ได้ให้อาสาสมัครท่องเที่ยวและตำรวจท่องเที่ยวช่วยอำนวยความสะดวกและข้อมูลในการเดินทางแก่นักท่องเที่ยว/ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย 2)บริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยทั่วไปในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย คือ รับบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค และยารักษาโรคจากข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยทำการบริจาคผ่านสถานีโทรทัศน์สี ช่อง 3 อสมท. เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2553 เวลา 16.00 น. 3) จัดตั้งศูนย์ร่วมจัดการวิกฤตอุทกภัยสำหรับการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นกรณีเฉพาะกิจและเป็นพิเศษ (Flood-Crisis Management Center For Tourism and Sports (Specific Unit) ) เพื่อให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว นักกีฬาและประชาชนโดยทั่วไป ในการเดินทางท่องเที่ยว แข่งขันกีฬา และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรับฟังปัญหา ข้อร้องทุกข์ข้อเสนอแนะต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาขั้นต้นอย่างรวดเร็ว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ศูนย์อำนวยการและบริการนักท่องเที่ยว สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โทร.0 2356 0650 ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โทร.1672 และกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว โทร.1155 4)สรุปรวบรวมความเสียหาย และดำเนินการซ่อมแซมทรัพย์สิน ของทางราชการ และรัฐวิสาหกิจของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตลอดจนช่วยเหลือ/บรรเทาบุคลากรในสังกัดฯ คือ การกีฬาแห่งประเทศไทย ภาค 3 จังหวัดนครราชสีมา สรุปความเสียหายของสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ ประมาณ 5.75 ล้านกว่าบาท และอำนวยความสะดวกให้แก่นักกีฬาวีลแชร์คนพิการ และนักกรีฑาทีมชาติ ที่ฝึกซ้อมเตรียมไปแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ที่กวางโจว ตลอดจนบ้านพักของข้าราชการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 4 ครอบครัว 5)ประเมินความเสียหายและผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการกีฬาของประเทศไทย ไม่ว่า นักท่องเที่ยว นักกีฬา แหล่ง/สถานที่ท่องเที่ยวและบริการ สนามกีฬา ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ในภาคตะวันออกเฉียงหนือ เสียหายประมาณ 70 ล้านบาท นักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่ในตลาดภาคอีสาน มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง มีการเลื่อนการเดินทาง และมีการยกเลิกการเดินทางในท่องเที่ยวพื้นที่ภาคอีสานเป็นจำนวนมาก 6)แนวทางการดำเนินงาน ช่วยเหลือและฟื้นฟูให้สอดคล้องกับแผนระยะสั้น กลาง และระยะยาวหลังน้ำท่วมลดลง เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการกีฬาในพื้นที่ประสบภัย ในลักษณะ 3 P.(Promotion, Product, and Policy) โดย 1.ด้านการส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยว(Promotion) มอบการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) 2.จัดทำแผนงาน ด้านการพัฒนาและปรับปรุงสถานที่/แหล่งท่องเที่ยวสาธารณะ(Product) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มอบกรมการท่องเที่ยว และ 3. นโยบายการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬาในพื้นที่ประสบภัย(Policy) มอบสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และสำนักเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตลอดจนคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป
นางธนิฏฐา เศวตศิลา มณีโชติ กล่าวปิดท้ายว่า หากผู้ประกอบการ และประชาชน มีประเด็นทางด้านท่องเที่ยวและกีฬา สามารถส่งข้อร้องทุกข์และข้อเสนอแนะ มาได้ที่ ศูนย์อำนวยการและบริการนักท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โทร.0 2356 0650 โทรสาร 0 2356 0712 ระหว่างเวลา 8.30-19.30 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ทั้งนี้หลังอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ต้องมีการฟื้นฟูแหล่ง/สถานที่ท่องเที่ยวและกีฬา เป็นการเร่งด่วน ร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อต้อนรับสู่ฤดูกาล/เทศกาลท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวและกีฬาไทย ช่วงโค้งสุดท้ายอย่างเต็มที่