นอกจากนี้ SALEE ยังได้รับแรงหนุนจากธุรกิจการพิมพ์ฉลากสินค้าของ บริษัท พาโก้ สาลี่ พริ้นท์ติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ โดยขณะนี้มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจย่านเอเชียที่ขยายตัวค่อนข้างมาก ทำให้ความต้องการในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค บริโภคขยายตัวตาม ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากผู้ร่วมทุนกลุ่ม บริษัท พาโก้ โฮลดิ้ง เอจี (PAGO) จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จึงส่งผลดีต่อธุรกิจของ “พาโก้ สาลี่ พริ้นท์ติ้ง” ที่มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของกลุ่ม S ALEE ซึ่งในเบื้องต้นประเมินว่าช่วงครึ่งหลังของปี 2553 คำสั่งซื้อของ “พาโก้ สาลี่ พริ้นท์ติ้ง” จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เขากล่าวต่อว่า จากการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปีนี้ บมจ.สาลี่อุตสาหกรรม และพาโก้ สาลี่ พริ้นท์ติ้ง จึงได้ขยายกำลังการผลิตโดยเพิ่มเครื่องจักรใหม่เข้ามาค่อนข้างมาก คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 120 — 150 ล้านบาท เพื่อมารองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเครื่องจักรใหม่ส่วนหนึ่งได้เริ่มเข้ามาตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 2/53 และอีกส่วนหนึ่งจะเพิ่มเข้ามาในไตรมาสที่ 4/53 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน
"ภาพรวมธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและเศรษฐกิจเอเชียที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และคอนซูเมอร์โปรดักส์ ส่งผลทำให้ความต้องการสินค้าจากลูกค้าของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของผู้บริโภค จึงส่งผลดีต่อธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ และสำหรับแนวโน้มผลประกอบการในปี 2553 กลุ่มบริษัทฯ ได้ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ประมาณ 750 — 800 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งอยู่ที่ประมาณ 920 ล้านบาท อย่างไรก็ตามรายได้รวมในปี 2552 ดังกล่าวเป็นการรวมรายได้จาก “เอสซี วาโด” ประมาณ 300 — 400 ล้านบาทเข้าไปด้วย ซึ่งในเดือนมีนาคม 2553 ที่ผ่านมา บริษัทได้ขายเงินลงทุนใน “เอสซี วาโด” ไปแล้ว ทำให้ไม่มีรายได้จาก “เอสซี วาโด” เข้ามารวมอีกต่อไป จึงทำให้รายได้รวมลดลง แต่ถ้าหากนับเฉพาะรายได้จากธุรกิจชิ้นส่วนพลาสติกและพิมพ์ฉลากถือว่าปีนี้ขยายตัวจากปีก่อนค่อนข้างมาก คิดเป็นอัตราการขยายตัวมากกว่า 25%”
เขากล่าวต่อว่า หลังจากขายเงินลงทุนใน “เอสซี วาโด” ออกไป ปัจจุบันกลุ่มบริษัทฯ มีโครงสร้างเงินทุนที่เข็มแข็ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/53 อยู่ที่เพียงประมาณ 0.30 เท่า เท่านั้น ทำให้มีกำลังและศักยภาพที่จะขยายการลงทุนได้อีกมาก โดยเริ่มเห็นได้จากจำน วนเงินลงทุนในเครื่องจักรใหม่ค่อนข้างมากในปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ซึ่งก็ถือเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุน เนื่องมาจากราคาเครื่องจักรที่ถูกลงจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ สำหรับราคาวัตถุดิบในช่วงที่เหลือของปีนี้ ไม่น่าจะมีปัญหามากนัก โดยคาดว่าน่าจะทรงตัวหรือหากจะขยับขึ้นคงจะไม่มากนัก โดยบริษัทได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากเห็นว่าราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ก็มีวิธีการบริหารความเสี่ยงให้ลดลง เช่น การซื้อวัตถุดิบบางส่วนมาเก็บไว้หรือเจรจาตกลงราคาล่วงหน้าไว้กับซัพพลายเออร์ เป็นต้น