กรรมการกทช.กล่าวต่อไปว่าสำหรับประชาชนที่ต้องการจะใช้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นระบบเติมเงินซึ่งปัจจุบันมีอยู่ร้อยละ80 ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งประเทศ ควรจะไปแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของเลขหมายโทรศัพท์โดยนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนไปแสดงที่คอลเซ็นเตอร์ของเครือข่ายที่ตนเองใช้บริการอยู่ เมื่อผู้ให้บริการทั้ง 5 รายประกาศเปิดให้บริการก็สามารถไปแสดงความจำนงขอเปลี่ยนเครือข่ายผู้ให้บริการโดยยังใช้หมายเลขโทรศัพท์เดิมได้ ทั้งนี้จะมีการคิดค่าธรรมเนียมเปลี่ยนแปลงเครือข่ายสูงสุดไม่เกิน 99 บาท ซึ่งกทช.เชื่อว่าในอนาคตเมื่อมีการแข่งขันทางการตลาดมากขึ้นค่าบริการดังกล่าวอาจจะไม่ต้องจ่ายเพราะบริษัทผู้ให้บริการจะเป็นผู้รับภาระแทน ส่วนเรื่องการปรับบริษัทผู้ให้บริการนั้นยังเดินหน้าต่อไปแต่ถ้าผู้ให้บริการรายใดประกาศชัดเจนว่าจะเปิดบริการได้เมื่อไหร่ค่าปรับในเดือนที่สองอาจจะไม่เป็นสองเท่าก็ได้
นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) กล่าวว่าจากการเดินทางไปตรวจความพร้อมในการเปิดบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการทั้ง 5 รายพบว่าในเรื่องการติดตั้งระบบภายใน บริษัท เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และ กสท.ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วยกเว้น ทีโอที ที่ยังไม่เรียบร้อย ส่วนเรื่องการทดสอบจับคู่การโอนย้ายเลขหมายระหว่างกัน พบว่าที่ลงตัวไปแล้วคือ เอไอเอส ดีแทค และ กสท. แต่ทรูมูฟกับ ทีโอที ยังไม่มีรายงานล่าสุดเข้ามา ในขณะที่การทดสอบการเชื่อมต่อระบบระหว่างผู้ให้บริการทั้ง 5 รายกับบริษัทเคลียริ่งเฮ้าส์ นั้นมีความพร้อมแล้ว อย่างไรก็ตาม กทช.จะต้องไปตรวจความพร้อมอีกครั้งเพื่อดูว่าผู้ให้บริการทั้ง 5 รายได้ดำเนินการจริงตามเอกสารที่แจ้งมาหรือไม่ โดยในสัปดาห์หน้าจะไปดูความพร้อมของ ทรูมูฟและ กสท.