นายประวิตร เปรื่องอักษร ประธานกรรมการบริษัท ฟู้ดโปรเจ็ค (สยาม) จำกัด และบรรณาธิการบริหาร Foodstylist Magazine เปิดเผยว่า ปัจจุบันการปรุงอาหารถือเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่คนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสนใจ และผู้ปรุงอาหารหรือ “เชฟ (CHEF)” ก็ได้รับการยกยกย่องว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติและมีความสำคัญ แต่เนื่องจากปัจจุบันเชฟที่มีฝีมือ ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และยังไม่ได้รับการต่อยอดเพื่อพัฒนาไปสู่เชฟที่มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากนัก
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดเชฟหน้าใหม่ๆ มาประดับวงการอาหารในเมืองไทย บริษัท ฟู้ด โปรเจ็ค (สยาม) จำกัด และนิตยสาร Foodstylist จึงได้จัดโครงการ “Foodstylist Challenge Creative CHEF 2010” ครั้งที่ 4 ขึ้น โดยมีกำหนดจัดงานขึ้นในระหว่างวันที่ 12-14 พฤศจิกายน 2553 เวลา 10.30-17.30 น. ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ โดยเป็นเวทีดังกล่าวฯ จะเป็นการแข่งขันทำอาหารที่เฟ้นหาสุดยอดเชฟ เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในระดับนานาชาติ ( International Chef ) และระดับโลก Food Olympic Chef Contest นอกจากนี้ การจัดงานดังกล่าวยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ที่รักการทำอาหารได้แสดงความสามารถในด้านการทำอาหารที่มีความสร้างสรรค์ควบคู่กับรสชาติที่ลงตัวจากวัตถุดิบในประเทศ และยังเป็นการเพื่อเผยแพร่เคล็ดลับและความรู้เกี่ยวกับการทำอาหารที่สามารถนำไปใช้ได้จริง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย ให้เติบโตขึ้นในอนาคตด้วย
นายประวิตร กล่าวว่า ปัจจุบันการทำอาหาร ถือว่าเป็นศาสตร์และเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งเวทีการแข่งขันทำอาหาร “Foodstylist Challenge Creative CHEF 2010 ครั้งที่ 4” จะเป็นการสร้างเชฟหน้าใหม่ให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยทางนิตยสารฯร่วมกับ Thailand Culinary Academy โดยเชฟวิลแมน เหลียง และการสนับสนุนของสมาคมพ่อครัวไทย รวมถึงภาครัฐและเอกชน ที่ร่วมสร้างเชฟไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล อาทิ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ ผลิตภัณฑ์แป้งโกกิ กะทิอร่อยดี เนยตราออร์คิด น้ำปลาทิพรส และบริษัท ฟู้ด โปรเจค เป็นต้น
สำหรับการแข่งขัน จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ 1. ประเภทนักศึกษา จำนวน 30 ทีมๆละ 4-5 คน 2.ประเภท CHEF มืออาชีพ จำนวน 10 ทีมๆ ละ ไม่เกิน 3 คน และกลุ่มที่ 3 คือ ประเภทบุคคลทั่วไป จำนวน 30 ทีมๆ ละไม่เกิน 3 คน
“ขณะนี้เราได้ทีมที่จะแข่งขันครบทั้ง 70 ทีมแล้ว โดยกติกาการประกวดนั้น ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำอาหารโดยมีการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ น่ารับประทาน และต้องมีผลิตภัณฑ์ของผู้สนับสนุนอย่างน้อย 2 ผลิตภัณฑ์เป็นส่วนประกอบในอาหาร โดยเกณฑ์การตัดสิน คือ ทุกทีมจะต้องทำอาหารเมนูละ 2 จาน ซึ่งเป็นเมนูอาหารไทยประยุกต์ (สำหรับกรรมการชิม และสำหรับจัดโชว์โต๊ะอาหาร) มีการจัดโต๊ะโชว์อาหารตามสไตล์ที่ได้คิดไว้อย่างอิสระ รวมถึงการเลือกใช้ภาชนะ และอุปกรณ์การตกแต่งอย่างเหมาะสม นอกจากนี้จะพิจารณาในเรื่องของการบริหารเวลาที่เหมาะสม รสชาติของอาหารที่ดี มีกรรมวิธีที่ถูกสุขลักษณะ สะอาด มีสีสันสวยงาม วัตถุดิบซึ่งถูกซ่อนไว้ในกล่องดำ ต้องนำมาประกอบอาหารมีความเหมาะสมและที่สำคัญคือมีความคิดสร้างสรรค์”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมร้านอาหารของไทย เติบโตขึ้นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ทุกปี และไทยเรามีร้านอาหาร กว่า 2,000,000 ร้านค้า จึงทำให้อุตสาหกรรม food service provider นี้มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ ดังนั้นการสร้างบุคลากรโดยเฉพาะเชพรุ่นใหม่ๆที่มีฝีมือ ยิ่งจะช่วยทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยเติบโตขึ้น อีกทั้งผู้ชนะการแข่งขันในเวทีนี้ จะได้รับการ Training จากทีม Thailand Culinary Academy นำทีมโดยเชฟวิลแมน เหลียง และการสนับสนุนของสมาคมพ่อครัวไทย ก่อนจะไปแข่งขันในระดับนานาชาติก็ยิ่งจะทำให้เชฟไทยและอาหารไทย ได้รับการพัฒนาฝีมือ และจะเป็นที่รู้จักและได้รับยอมรับในระดับสากลมากขึ้นในอนาคต