กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--มาสเตอร์ไมนด์
วันนี้ (23 มิถุนายน 2548) บริษัท International Factors Singapore (IFS) ได้เข้าซื้อหุ้นจำนวน 10% จากกลุ่มผู้บริหารของ บริษัทเงินทุนแอ็ดวานซ์ จำกัด (มหาชน) และพร้อมเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นถึง 49% หากได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง
นางดารณี หัวใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเงินทุนแอ็ดวานซ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้พิจารณาหาผู้ร่วมทุนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในโครงสร้างผู้ถือหุ้นและเพื่อสนับสนุนการขยายการทำธุรกิจของบริษัทในอนาคตต่อไป ซึ่งกลุ่มที่ได้พิจารณาแล้วว่าเป็นผู้ร่วมทุนที่เหมาะสม คือบริษัท International Factors Singapore (IFS) เนื่องจากบริษัท IFS ประกอบด้วยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีความมั่นคง ซึ่งรวมถึง บริษัท Phillip Asset Pte ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท Phillip Capital
“นอกจาก IFS ที่เข้ามาร่วมลงทุนในเงินทุนแอ็ดวานซ์ ครั้งนี้ และยังมีความต้องการเพิ่มสัดส่วนการเข้าถือหุ้นให้มากขึ้นแล้ว ทางบริษัทยังอยู่ในขั้นตอนที่จะหากลุ่มผู้ร่วมทุนเพิ่มขึ้น ทั้งที่เป็นสถาบันและนักลงทุนรายย่อยเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับบริษัทมากยิ่งขึ้น ด้วยการยอมลดสัดส่วนกลุ่มผู้บริหารเดิมลงในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ได้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ” นางดารณีกล่าว และยังบอกด้วยว่า ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมีแนวทางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กรให้สอดคล้องกับสถานการณ์และมีความคล่องตัวมากขึ้นในเชิงธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการทำกำไรเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมุ่งเน้นการเข้าร่วมทำธุรกรรมทางการเงินทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างบริษัทเงินทุนแอ็ดวานซ์ ให้มีความแข็งแกร่ง สามารถต่อสู้กับสภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงของธุรกิจทางการเงินในขณะนี้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเงินทุนแอ็ดวานซ์ กล่าวอีกว่า เพียงในระยะเวลา 9 เดือนตั้งแต่เข้าซื้อกิจการจากเลห์แมน บราเธอร์ส จนถึงปลายปี 2547 มูลค่าของสินทรัพย์รวมของบริษัทได้เติบโตขึ้นจาก 1,542 ล้าน เป็น 4,350 ล้านบาท มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 98 ล้านบาท เป็น 168 ล้านบาท มียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 1,227 ล้านบาท เป็น 2,828 ล้านบาท มียอดเงินฝากเพิ่มจาก 948 ล้านบาท เป็น 3,660 ล้านบาท มีกำไรเพิ่มขึ้นจาก 1.9 ล้านบาท เป็น 60.7 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 622 ล้านบาท
“คาดว่าจะสามารถทำกำไรได้ประมาณ 70 ล้านบาทในปี 2548 และคาดว่าจะมีผลประกอบการที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในปีต่อไป ด้วยการทำธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการขยายธุรกิจร่วมกับ IFS” นางดารณีกล่าว
ด้าน Mr. Lee Soon Kie ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท IFS เปิดเผยว่า การตัดสินใจลงทุนของ IFS ในครั้งนี้เพราะมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย และเป็นความตั้งใจที่จะขยายธุรกิจในระดับภูมิภาคอีกก้าวหนึ่งของ IFS และในการเลือกหุ้นส่วนของการขยายธุรกิจในประเทศไทยนี้ เงินทุนแอ็ดวานซ์ ได้รับเลือกเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจก็เพราะเชื่อมั่นว่าบริษัทเงินทุนแอ็ดวานซ์ มีศักยภาพในการเติบโตสูง ด้วยทีมผู้บริหารที่มีความสามารถและมุ่งมั่นที่จะนำพาบริษัทให้เจริญเติบโตต่อไป
“ถึงแม้ว่า IFS จะได้มีการร่วมทุนกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในนามของ บริษัท Ayudhya International Factors จำกัด ซึ่งเน้นธุรกิจในเรื่องของ Factoring แล้วก็ตาม IFS ก็ยังต้องการที่จะใช้ เงินทุนแอ็ดวานซ์ เป็นฐานในการขยายธุรกิจในประเทศไทย ทั้งในรูปแบบของการให้กู้ยืมร่วมกับ IFS และการให้คำปรึกษาด้านปรับโครงสร้างทางการเงิน อีกทั้งบริษัทยังมีแผนที่จะขยายขอบเขตของธุรกิจไปยังธุรกิจลีสซิ่ง ธุรกิจเช่าซื้อ และรวมถึงการทำ Private Equity” Mr. Lee Soon Kie กล่าวและบอกด้วยว่า นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะนำบริษัทเงินทุนแอ็ดวานซ์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใน 3 ปีข้างหน้านี้อีกด้วย
ข้อมูลประกอบ
บริษัทเงินทุนแอ็ดวานซ์ จำกัด (มหาชน) เดิมเป็นที่รู้จักกันในนามของ บริษัทเงินทุนโกลบอลไทย จำกัด ก่อตั้งจากกลุ่มผู้บริหารคนไทยที่ได้เข้าทำการซื้อกิจการ (Management Buyout) จาก เลห์แมน บราเธอร์ส ซึ่งเป็นวานิชธนกิจชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมีนาคม 2547
ธุรกิจหลักที่ บริษัทเงินทุนแอ็ดวานซ์ มุ่งเน้นคือ ธุรกิจในด้านการให้สินเชื่อ การให้สินเชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ การให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย รวมถึงเน้น การให้คำปรึกษาด้านปรับโครงสร้างทางการเงิน
สำหรับ IFS เป็นสถาบันการเงินที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ โดยกลุ่มของ IFS ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นในเรื่องการทำ Factoring การให้กู้ยืม การเช่าซื้อ การให้ปรึกษาด้านปรับโครงสร้างทางการเงิน การทำ Credit insurance และการค้ำประกัน รวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2536 IFS ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสิงคโปร์ และ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2547 IFS มีสินทรัพย์รวมคิดเป็นจำนวน 415 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (หรือ 10,100 ล้านบาท) โดยทั้งกลุ่มมีกำไรอยู่ที่ 8.1 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (หรือ 197 ล้านบาท) มีส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 95.8 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (หรือ 2,331 ล้านบาท)--จบ--
- ๐๐:๓๗ บางกอกทูเดย์จัดเสวนา "2568 สัญญาณอันตรายรัฐบาล ในสายตากูรูการเมือง"
- ๒๒ ม.ค. EXIM BANK คว้ารางวัล Bank of The Year 2024 สุดยอดธนาคารแห่งปี 2567
- ๒๒ ม.ค. ธอส. จัดผลิตภัณฑ์ทางการเงินส่งท้ายปี ร่วมงาน Thailand Smart Money กรุงเทพ ครั้งที่ 15 ชูสินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำเริ่มต้นเพียง 0.71% ต่อปี เท่านั้น!