ไคโรแพรคติก ศาสตร์แห่งการฟื้นฟูโครงสร้างกับข้อข้องใจในการรักษา

อังคาร ๐๒ พฤศจิกายน ๒๐๑๐ ๑๕:๒๒
หลายคนอาจเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับการรักษาด้วย ศาสตร์การแพทย์ทางเลือก “ไคโรแพรคติก” ทั้งที่ศาสตร์ไคโรแพรคติกไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ก็ยังมีหลายประเด็นที่ผู้บริโภคอดเป็นห่วงไม่ได้เกี่ยวกับการรักษาด้วยศาสตร์นี้ เช่น รูปแบบการรักษา ความน่าเชื่อถือ ตลอดจนความปลอดภัยที่ผู้บริโภค จะได้รับจากการรักษาด้วยศาสตร์ไคโรแพรคติก

ดร.มนต์ทณัฐ โรจนาศรีรัตน์ โฆษกสมาคมการแพทย์ไคโรแพรคติกแห่งประเทศไทย (Thailand Chiropractic Association : TCA) เปิดเผยถึงการรักษาด้วยศาสตร์ไคโรแพรคติกว่า “ไคโรแพรคติก เป็นศาสตร์ทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาเป็นเวลานาน สำหรับ ในประเทศไทยนั้นไคโรแพรคติกถือว่าเป็นศาสตร์ทางการแพทย์แขนงใหม่ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มี การจัดการการเรียนการสอนแพทย์ศาสตร์นี้มาก่อน ทั้งที่จริงแล้วศาสตร์ไคโรแพรคติกเข้ามาในประเทศไทยราวๆ 10 — 15 ปีก่อน โดยเริ่มจากไคโรแพรคเตอร์ชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามารักษาในประเทศไทย จนขณะนี้ จากการผลักดันของกลุ่มแพทย์ไคโรแพรคเตอร์ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขออกใบรับรอง ใบประกอบโรคศิลปะแก่ศาสตร์การแพทย์ทางเลือกไคโรแพรคติก แต่เป็นการออกชั่วคราว ไม่ได้ออกเป็น พระราชกฤษฎีการับรอง ตอนนี้ทั่วประเทศเรามีแพทย์ด้านไคโรแพรคติกที่ได้ใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายราวๆ 30 คน แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้แพทย์สาขาทางเลือกไคโรแพรคเตอร์มีใบอนุญาตและประกอบอาชีพนี้ได้ตามกฎหมายของประเทศไทย จึงถึอเป็นก้าวเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ของแพทย์ทางเลือกแขนงนี้”

ไคโรแพรคติกคืออะไร ?

ไคโรแพรคติก เป็นศาสตร์ที่คำนึงถึงความสมดุลของกระดูกสันหลังโดยเน้นความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและระบบของร่างกายที่เชื่อมโยงกัน ไปจนถึงการรักษาฟื้นฟูโครงสร้างที่นำไปสู่สุขภาพที่ดีโดยรวม ตามแนวคิดพื้นฐานที่เชื่อว่าลักษณะโครงสร้างกระดูกสันหลัง หรือการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังนั้นมีผลกระทบต่อระบบการทำงานและความสมดุลในส่วนต่างๆ ของร่างกายหรืออาจพูดง่ายๆว่าหากโครงสร้างร่างกายมีภาวะสมดุล ระบบต่างๆในร่างกายก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสุขภาพร่างกายของเราก็จะอยู่ในสภาพที่ดี

แพทย์ด้านไคโรแพรคติก หรือที่เรียกกันว่า ไคโรแพรคเตอร์ จึงให้ความสำคัญกับกระดูกสันหลังมากเป็นพิเศษ เพราะกระดูกสันหลังนั้นเปรียบเสมือนเกราะป้องกันระบบประสาทที่อยู่ภายใน อีกทั้งยังเป็นแกนกลางในการสร้างสมดุลการเคลื่อนไหวอีกด้วย หากโครงสร้างของกระดูกสันหลังมีความผิดปกติเกิดขึ้น การสั่งงานต่างๆของระบบสมดุลยภาพ จะไม่สมบูรณ์ และสามารถก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ ตามมาได้

สำหรับแนวทางการรักษานั้น ไคโรแพรคเตอร์จะนำเทคนิคการจัดกระดูก (Manipulation) และการฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่มีปัญหามาใช้ในการปรับโครงสร้างด้วยวิธีจับ ดัด ปรับ เพื่อทำให้การเรียงตัวของกระดูกสันหลังและข้อต่อต่างๆ กลับมาสมดุลโดยไม่ต้องอาศัยการผ่าตัด ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการรักษาที่ต้นเหตุ มีความปลอดภัย และสามารถเชื่อถือได้ตามที่ได้ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

นอกจากนี้ ไคโรแพรคเตอร์ ได้นำเอาเทคนิคอันหลากหลายเข้ามาใช้ในการตรวจและรักษาอาการผิดปกติของกระดูกสันหลัง และพัฒนาศักยภาพของร่างกายโดยรวม ซึ่งนอกจากวิธีการจัดกระดูกแล้วยังมีการใช้วิธีการพัฒนาในส่วนของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อ เช่น การทำกายภาพบำบัด การนวดเพื่อบำบัด การออกกำลังกายเพื่อการบำบัด และการออกแบบการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลด้วย ตลอดจนช่วยฟื้นฟูกลไกการทำงานของร่างกายให้กลับสู่สภาวะปกติ

อาการที่เหมาะกับการรักษาด้วยไคโรแพรคติก

ไคโรแพรคติกเป็นการบำบัดโครงสร้างที่ผิดปกติ (Postural Disorder) หรือเสียสมดุลของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (Muscuroskelotal) โดยจะเน้นเรื่องของกระดูกสันหลังเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดคอ ปวดหลัง ปวดศีรษะ ปวดชาตามแขนและข้อต่างๆ ฯลฯ และสำหรับผู้ที่มีความผิดปกติของการเคลื่อนไหว เช่น นั่งผิด เดินผิด ยกของผิดท่า ฯลฯ ก็จะเกิดการสะสมของอาการ ดังนั้นการปรึกษาไคโรแพรคเตอร์จะช่วยให้เราแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่จะสายเกินไป เนื่องจากไคโรแพรคเตอร์จะดูแลและปรับให้โครงสร้างร่างกายกลับสู่ความสมดุลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเมื่อโครงสร้างร่างกายกลับมาสมดุลการเคลื่อนไหวต่างๆ ก็จะกลับมาดีขึ้น

ภายหลังจากการบำบัดรักษาด้วยศาสตร์ไคโรแพรคติก อาจสังเกตได้ว่าอาการของโรคต่างๆนั้น ดีขึ้นมาก แต่วิธีนี้ยังไม่ใช่การรักษาโรคต่างๆ โดยตรง เพราะเป็นเพียงผลพลอยได้จากภาวะร่างกายที่สมดุลขึ้น (Homeostasis) หลังจากที่ผ่านกระบวนการรักษาของไคโรแพรคติกเท่านั้น ดังนั้น จึงควรระวังคำโฆษณาชวนเชื่อเกินจริงและคำกล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริง

มาตรฐานและความปลอดภัย

จากการวิจัยทั้งในระดับสากลขององค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขของไทย พบว่าการบำบัดด้วยศาสตร์ไคโรแพรคติกมีความปลอดภัยสูงและเชื่อถือได้ เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในวงการแพทย์มานาน แต่ต้องกระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไคโรแพรคติกจริงๆ เท่านั้น เพราะเทคนิคการปรับกระดูกจะสามารถรักษาผู้ป่วยได้จริงก็ต่อเมื่อแพทย์มีความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม หากผู้ทำการรักษาไม่มีความรู้หรือความชำนาญเฉพาะทางอย่างเพียงพอ ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยพิการได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยในต่างประเทศที่รับรองถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษาด้วยศาสตร์ไคโรแพรคติก อาทิ

ผลงานวิจัย : การปวดขั้นรุนแรงและเรื้อรัง

คนไข้ที่ปวดหลังช่วงล่างแบบเรื้อรัง เมื่อได้รับการบำบัดโดยไคโรแพรดเตอร์ ภายในระยะเวลา 1 เดือนจะมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับและได้รับความพึงพอใจมากกว่าคนไข้ที่รักษากับแพทย์ที่ไม่ใช่ ไคโรแพรคเตอร์ 56% ของคนไข้ที่บำบัดด้วยไคโรแพรคติก กล่าวว่าอาการปวดหลังช่วงล่างดีขึ้นมาก ในขณะที่ 33% ของคนไข้ที่รักษาด้วยวิธีอื่น กล่าวว่าอาการปวดหลังช่วงล่างแย่ลงหรือเป็นหนักกว่าเดิมหลังบำบัด (Nyiendo et al (2000), Journal of Manipulative and Physiological Therapeutics)

คนไข้ 183 คนที่มีอาการปวดคอ (จากการสุ่มตัวอย่างและติดตามผล) ได้ถูกจัดให้รักษาแบบต่างๆ ได้แก่ การนวดด้วยมือ (เน้นที่กระดูกสันหลัง), กายภาพบำบัด (เน้น การออกกำลังกาย), และ การรักษาแบบทั่วไป (ปรึกษา ให้ความรู้ และใช้ยารักษา) การรักษาทั้ง 3 แบบใช้เวลา 52 สัปดาห์ และจากการเฝ้าดูอาการพบว่า การบำบัดแบบนวดด้วยมือทำให้คนไข้มีอาการดีขึ้นเร็วกว่าการทำกายภาพและการรักษาแบบทั่วไป และยิ่งไปกว่านั้นคือ การบำบัดแบบนวดด้วยมือเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพียง 1 ใน 3 เมื่อเปรียบเทียบกับ การทำกายภาพและการรักษาแบบทั่วไป (Korthals-de Bos et al (2003), British Medical Journal)

ผลงานวิจัยเกี่ยวกับ : การเปรียบเทียบกับการบำบัดรักษาด้วยวิธีอื่น

ผู้ป่วยขั้นรุนแรงและเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดด้วยไคโรแพรคติค เปิดเผยว่าอาการเจ็บปวดและความผิดปกติต่างๆทุเลาลงและรู้สึกพึงพอใจมาก (Haas et al (2005), Journal of Manipulative and Physiological Therapeutics)

จากเอกสารอ้างอิง ซึ่งได้เปรียบเทียบประสิทธิผลของการรักษา 3 แบบ การนวดด้วยมือ กายภาพบำบัด และการรักษาแบบทั่วไป กับคนไข้ที่มีอาการปวดคอ หลังการบำบัดผ่านไป 7 สัปดาห์พบว่าอัตราความพึงพอใจของคนไข้ที่ได้รับการบำบัดแบบการนวดด้วยมือเป็น 2 เท่าของการรักษาแบบทั่วไป ในขณะที่ การนวดด้วยมือก็ได้คะแนนดีกว่ากายภาพบำบัดในทุกด้านเช่นกัน นอกจากนี้คนไข้ที่ได้รับการบำบัดแบบการนวดด้วยมือจะเข้ารับการบำบัดสม่ำเสมอกว่าคนไข้ที่รักษาแบบกายภาพบำบัด และการรักษาแบบทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า คนไข้ที่ได้รับการบำบัดแบบการนวดด้วยมือและกายภาพบำบัดจะใช้ยาบรรเทาปวดน้อยกว่าคนไข้ที่รักษาแบบทั่วไป (Hoving et al (2002), Annals of Internal Medicine)

ผลงานวิจัย : อาการปวดศีรษะ

การจัดกระดูกคอช่วยลดอาการปวดศีรษะลงอย่างมีนัยสำคัญ ผลการวิจัยนี้เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีอาการปวดคอ กระดูกคอเสื่อมและอาการปวดศีรษะ (Duke Evidence Report, McCroy, Penzlen, Hasselblad, Gray (2001)

รายงานการวิจัยแสดงว่าการบำบัดด้วยจัดกระดูกสันหลังส่งผลให้อาการปวดศีรษะลดลง หลังจากนั้น 4 สัปดาห์ คนไข้ที่ได้รับการการบำบัดด้วยจัดกระดูกสันหลังอย่างต่อเนื่อง มีอาการดีขึ้นกว่าคนไข้ที่รักษาโดยให้ยาแก้ปวดหรือยาลดความเครียด ซึ่งคนไข้ประเภทหลังนี้บางรายกลับไปสู่อาการปวดศีรษะตอนเริ่มต้นรักษา (Journal of Manipulative and Physiological Therapeutics, Boline et al (1995)

นอกจากนี้ ดร.มนต์ทณัฐ โฆษกสมาคมการแพทย์ไคโรแพรคติกฯ ยังแสดงความเป็นห่วงต่อผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการแพทย์ทางเลือกอย่างไคโรแพรคติกว่า “เมื่อผู้บริโภคได้ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการรักษาด้วยศาสตร์ไคโรแพรคติกอย่างชัดเจนแล้ว สิ่งสำคัญอยู่ที่การเลือกผู้ให้บริการด้วยเช่นกัน ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ด้านไคโรแพรคติกที่ได้ใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายราวๆ 30 คน แต่เมื่อตัวเลขของผู้ให้บริการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายมีไม่มาก ปัญหาที่ตามมาคือ การรักษา โดยไคโรแพรคเตอร์เถื่อนซึ่งไม่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยสามารถแยกออกเป็น 3 ประเภทคือ ประเภทที่ 1 ชาวต่างประเทศหรือคนไทยที่จบการศึกษาแขนงไคโรแพรคติกมาจากต่างประเทศไทยได้ใบประกอบโรคศิลปะจากต่างประเทศ แต่ประกอบอาชีพไคโรแพรคเตอร์ในเมืองไทยแบบไม่มี ใบประกอบโรคศิลปะ ด้วยปัญหาของแพทย์ต่างประเทศที่เรากำหนดให้อยู่เมืองไทย 3 ปีก่อนจึงมีสิทธิ์สอบใบประกอบโรคศิลปะ เพราะเราเชื่อว่าการสื่อสารที่ถูกต้องกับคนไข้เป็นสิ่งสำคัญ ประเภทที่ 2 ผู้ที่อ้างว่า จัดกระดูกด้วยศาสตร์ไคโรแพรคติกแต่ความจริงไม่มีความรู้ในศาสตร์นี้ แต่อาจมีความรู้ในศาสตร์อื่น เช่น กายภาพบำบัด ซึ่งหลักการจัดกระดูกมีหลายแบบตามศาสตร์การแพทย์ทางเลือก อย่างของไทยมีการนวดแผนไทย กายภาพเองก็มีศาสตร์การจัดกระดูกแบบกายภาพ แต่ปัญหาที่พบคือ โฆษณาว่าจัดกระดูกแบบไคโรแพรคติกแต่ในทางการรักษาไม่ใช่ แบบนี้ไม่ถูกต้อง และประเภทที่ 3 แอบอ้างว่ามีความสามารถในการจัดกระดูกแบบไคโรแพรคติก อาศัยจากที่เคยเห็นแล้วนำไปทดลองทำ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง”

โฆษกสมาคมการแพทย์ไคโรแพรคติกฯ ได้ฝากทิ้งท้ายว่า “เพื่อความปลอดภัยและผลประโยชน์ของคนไข้ หากจะเลือกใช้บริการการแพทย์ทางเลือกไคโรแพรคติก ต้องศึกษาว่าแพทย์จบมาจากที่ใด มีความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ไคโรแพรคติกมากน้อยเพียงใดและได้รับใบประกอบโรคศิลปะในประเทศไทย ซึ่งออกโดยกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ ซึ่งตามสถานประกอบการต้องแสดงข้อมูลให้ผู้ใช้บริการได้ทราบเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคเอง”

ทางที่ดี ผู้บริโภค ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาข้อมูลการรักษาด้วยศาสตร์ไคโรแพรคติก ไม่เช่นนั้น “คุณ” ก็อาจตกเป็นเหยื่อของความไม่รู้ และอาจพลาดพลั้งตกหลุมพรางไปรักษากับ ไคโรแพรคเตอร์เถื่อนได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

โทร 0 2682 9880

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๐๐ รำไพพรรณีจับมือโรงเรียนในจันทบุรี พัฒนาทักษะภาษา สู่ความเป็นเลิศ
๐๙:๐๐ DITP แถลงข่าวตอกย้ำความสำเร็จ E-Academy ภายใต้แนวคิด Beyond Boundaries Transform Knowledge into Impact
๐๙:๐๐ เปิดให้จองแล้ว Samsung Galaxy S25 Series ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่ของคนไทย พร้อมรับสิทธิพิเศษมากมาย
๐๙:๐๐ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ เชิญร่วมงานเสวนา โปรตุเกส.เหตุที่รั
๐๙:๐๐ การเคหะแห่งชาติจับมือ 3 หน่วยงาน พัฒนาศักยภาพเพิ่มทักษะชาวชุมชนหวังสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
๐๙:๐๐ ก้อย-นัตตี้-ดรีม ชีเสิร์ฟความฮอตแบบไม่พัก รับบทพรีเซ็นเตอร์ชุดชั้นในวาโก้ โชว์ความเนียนยืนหนึ่งระดับตัวมัม!
๐๙:๐๐ เจาะลึกคีย์เทคโนโลยี AI ฝีมือคนไทย บนแอปสินเชื่อ มันนี่ทันเดอร์ พลังขับเคลื่อนสำคัญที่ อบาคัส ดิจิทัล
๐๘:๑๓ เปิดความปัง มั่งมีรับปีใหม่ กับ แมคโดนัลด์ 'มั่งมีเบอร์เกอร์ x MY MELODY' ยกขบวนความน่ารัก MY MELODY กับแพ็กเกจจิงและ กระเป๋า Tote Bag
๐๘:๑๑ ถอดรหัสความสำเร็จ Fundao แบรนด์กระเป๋าไทยของผู้หญิงยุคใหม่ กับสถิติยอดขายช่วงแคมเปญเพิ่มขึ้นกว่าปกติถึง
๐๘:๐๐ เปลี่ยนธุรกิจคุณให้โตคูณร้อย กับหลักสูตร CMF เปิดรับสมัครรุ่นที่ 21 แล้ววันนี้ !!