ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. เอสโซ่ (ประเทศไทย)” ที่ระดับ “A+” แนวโน้ม “Stable”

พฤหัส ๐๔ พฤศจิกายน ๒๐๑๐ ๐๘:๓๐
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานของบริษัทซึ่งเป็นที่ยอมรับในธุรกิจปิโตรเลียมในประเทศไทย รวมทั้งประสิทธิภาพของโรงงานทั้งในด้านการกลั่นน้ำมันและการผลิตอะโรเมติกส์ ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่เข้มแข็ง และการสนับสนุนที่ดีจาก Exxon Mobil Corporation และบริษัทในเครือ (ExxonMobil) ทั้งนี้ ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความผันผวนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี รวมถึงราคาน้ำมันและค่าการกลั่นที่มีความผันแปรสูง ตลอดจนกำลังการกลั่นที่เพิ่มขึ้นของโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคเอเชียด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะที่แข็งแกร่งทั้งในส่วนของผลประกอบการและการตลาดในธุรกิจปิโตรเลียมในประเทศไทยเอาไว้ได้ นอกจากนี้ยังคาดว่าบริษัทจะดำรงสภาพคล่องให้เพียงพอและรักษาฐานะทางการเงินให้อยู่ในระดับที่ดีเพื่อรองรับความผันผวนของธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี

ทริสเรทติ้งรายงานว่าบริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทในเครือ ExxonMobil โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทเป็น 1 ในโรงกลั่นทั่วโลก 38 แห่งของ ExxonMobil ปัจจุบันผู้ถือหุ้นของบริษัทประกอบด้วย ExxonMobil ในสัดส่วน 66% กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ในสัดส่วน 7.3% และนักลงทุนทั่วไป 26.7% บริษัทประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ (Complex Refinery) ด้วยกำลังการผลิตสูงสุดที่ 177,000 บาร์เรลต่อวัน และมีส่วนแบ่งทางการตลาด 16% ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของไทย ในขณะที่มียอดขายผ่านสถานีบริการน้ำมันภายใต้ตราสัญลักษณ์ “เอสโซ่” จำนวน 2,500-3,000 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งคิดเป็น 15%-18% ของยอดขายปลีกน้ำมันต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า การดำเนินธุรกิจที่ครบวงจรทั้งโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานอะโรเมติกส์ทำให้บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) มีความยืดหยุ่นในการเลือกผลิตผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าระหว่างผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และด้วยเทคโนโลยีและการดำเนินงานตามปรัชญาของ ExxonMobil จึงส่งผลให้โรงกลั่นของบริษัทได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและมีหน่วยผลิตที่มีความพร้อมสูงในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับประโยชน์จากขีดความสามารถระดับโลกของ ExxonMobil ในการจัดหาน้ำมันดิบและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วย ในปี 2552 ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของบริษัทประกอบด้วยน้ำมันดีเซล (33.8%) น้ำมันเบนซิน (19.3%) รีฟอร์เมต (13.5%) น้ำมันเตา (11.1%) น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (7.7%) และอื่น ๆ (14.6%) โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยที่ 68.3% ลดลงจากระดับ 79.4% ในช่วงเดียวกันของปี 2552 เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นตามกำหนดในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ค่าการกลั่นของทั้งอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงกดดันจากกำลังการกลั่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นในระหว่างปี 2552-2553 ก็มีส่วนทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของบริษัทลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวน่าจะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากบริษัทไม่มีแผนการซ่อมบำรุงในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 รวมทั้งอุปสงค์ของน้ำมันก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนการผลิตพาราไซลีนก็ลดลงเป็น 154,000 ตันในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 โดยลดลง 22.6% จากช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะอุปทานส่วนเกินและกำไรที่ค่อนข้างต่ำของทั้งอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันนั้น บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จัดจำหน่ายผ่านสถานีบริการเพิ่มขึ้นจาก 16.64% ในปี 2552 เป็น 17.42% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 แม้บริษัทจะยังมีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันภายใต้ตราสัญลักษณ์ “เอสโซ่” คงเดิมที่ 537 แห่งก็ตาม

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 บริษัทมียอดขาย 89,378 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นแม้ปริมาณขายจะลดลงก็ตาม โดยยอดขาย 91% มาจากธุรกิจการกลั่นและจัดจำหน่ายน้ำมัน ส่วนอีก 9% มาจากธุรกิจปิโตรเคมี ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปเทียบกับราคาน้ำมันดิบมีมูลค่าสูงกว่าในปี 2552 ทำให้ค่า การกลั่นของทั้งอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ดีกว่าในปี 2552 เช่นกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทมีค่าการกลั่นที่ 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ซึ่งลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับ 5.60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2552 เนื่องจากการบันทึกผลขาดทุนจากการประเมินมูลค่าสินค้าคงเหลือในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับการบันทึกผลกำไรในปี 2552

ฐานะทางการเงินของบริษัทยังอยู่ในเกณฑ์ดีแม้ว่าบริษัทจะประสบผลขาดทุนสุทธิ 55 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิจำนวน 4,450 ล้านบาทในปี 2552 อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทยังอยู่ในระดับดีที่ 2,389 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เมื่อเทียบกับ 3,939 ล้านบาทในปี 2552 ณ เดือนมิถุนายน 2553 บริษัทมีเงินกู้รวม 27,471 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ 54.26% ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงการลงทุนในโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงให้ได้ตามมาตรฐานใหม่ (Euro IV) ในปี 2553-2554 งบลงทุนของโครงการอยู่ที่ประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยบริษัทเตรียมจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการดังกล่าวจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและเงินกู้เพิ่มเติม ส่วนวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนมูลค่า 54,000 ล้านบาทจาก ExxonMobil ก็ช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งพอที่จะรองรับภาวะผันผวนของราคาสินค้าทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีได้ ทริสเรทติ้งกล่าว

บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO)

อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO