โครงการดังกล่าวมีระยะเวลา 4 ปี โดยมีกรอบความร่วมมือ คือ 1.การใช้ศักยภาพของแต่ละหน่วยงานให้เกิดประโยชน์ในการศึกษาวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการให้บริการวิชาการ เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรไทยทั้งในด้านการผลิตและบริการจัดการผลผลิตที่ครบวงจร รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพเกษตรกร ตลอดจนสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง และ 2.ร่วมมือกันจัดกระบวนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศ ทักษะ องค์ความรู้ นวัตกรรม อุปกรณ์ สถานที่ ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้องในด้านการศึกษาวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาเกษตรกรและทรัพยากร การพัฒนาบุคลากร และกลุ่มเป้าหมายของหน่วยงานทั้งสาม
สำหรับบทบาทความร่วมมือของหน่วยงานทั้งสาม มีดังนี้
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) 1.ศึกษาวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมการเกษตรแก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน และสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ 2.จัดแสดงและเผยแพร่ผลงานในพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ และเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานทั้งสาม และ 3.ถ่ายทอดผลงาน เทคโนโลยี องค์ความรู้ นวัตกรรม และให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของหน่วยงานทั้งสาม ทั้งด้านการผลิต การบริหารจัดการ และส่งเสริมการพัฒนาชุมชน ด้วยการบริหารจัดการธุรกิจและการตลาดที่เข้มแข็ง
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 1.คัดเลือกพื้นที่และเกษตรกรเข้าร่วมศึกษาวิจัย การพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้และนวัตกรรม 2.ประสานงานและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน 3.สนับสนุนเงินทุนและทรัพยากรในการพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้และนวัตกรรมแก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน และ 4.ร่วมศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน
สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ 1.จัดพื้นที่ จัดแสดง เผยแพร่ และถ่ายทอดผลงานของ วว. แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินและประชาชนทั่วไป 2.ร่วมศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาการเกษตรและเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน และ 3. จัดกระบวนการเรียนรู้แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายเกษตรกรในเขตดำเนินการปฏิรูปที่ดิน