ในช่วงเดือนตุลาคม — พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมอันเกิดจากฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากและวาตภัยอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตประชาชนนับร้อยคนและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจำนวนหลายล้านคน มีทรัพย์สินเสียหายคิดเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ทำให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่ประชาชนจำนวนมากว่าสภาพปัญหาดังกล่าวรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐยังไม่มีมาตรการชัดเจน สภาพปัญหาดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นต่อไป และจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
สภาที่ปรึกษาฯ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และจะเร่งทำการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการ โดยมีประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาศึกษาดังนี้
1.ศึกษาระบบการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในปัจจุบันว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด การบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดแล้วหรือไม่ และควรมีการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมระบบการบริหารจัดการน้ำในประเด็นใดบ้าง นอกจากระบบที่มีอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง
2.ศึกษาแผนงาน/โครงการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาด้านอุทกภัยและภัยแล้งในระยะกลางและระยะยาว ว่ามีอยู่อย่างไร มีปัญหาอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการดำเนินการในดำเนินการ และจะสามารถบูรณาการแผนงาน/โครงการดังกล่าวให้นำไปสู่การปฏิบัติและสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้ง ได้อย่างแท้จริงได้อย่างไร
3. พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ในแต่ละลุ่มน้ำ แต่ละภาค หากแผนงาน/โครงการใดมีความสำคัญพิเศษเร่งด่วน ก็ควรพิจารณาเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะกลางและระยะยาวได้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งจะได้ดำเนินการในทุกภูมิภาคในเชิงกว้าง โดยจะมีการพิจารณาเชิงลึกในบางพื้นที่
4. พิจารณามาตรการด้านผังเมืองและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ดินโคลนถล่มและภัยแล้งในอนาคต ในมิติต่างๆ เช่น การรักษาป่า การรักษาแหล่งกั้นน้ำ ฯลฯ