ส.ย.ท. เผยร่างแนวปฏิบัติข้อ 9 และ 10 ขององค์การอนามัยโลกเป็นการห้ามใช้ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ยาสูบซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และอาชีพของเกษตรกรชาวไร่ยาสูบในประเทศไทยและทั่วโลกจนถึงขั้นต้องเลิกอาชีพ เนื่องจากมาตราดังกล่าวจะทำให้ความต้องการใบยาทั้งตลาดในและต่างประเทศลดลง เพราะไม่สามารถเติมส่วนประกอบที่จำเป็นในการผลิตบุหรี่ได้ ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวยังไม่ได้เป็นการช่วยให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพแต่อย่างใด นอกจากนี้จะมีการรับทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนิการตามข้อ 17 และ 18 อันเป็นการเสนอให้มีการดำเนินมาตรการลดพื้นที่การเพาะปลูกยาสูบอีกด้วย
ส.ย.ท. ได้คัดด้านการรับรองมาตรการดังกล่าวโดยการส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลกรมสรรพสามิตและโรงงานยาสูบ ถึงสองครั้ง ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา รวมทั้งเกษตรกรเกือบ 20,000 คนจาก 8 จังหวัดภาคเหนือได้มีการร่วมลงชื่อเพื่อส่งไปยังกระทรวงการคลังเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ ส.ย.ท. ยังได้ส่งหนังสือถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 20 กันยายน เพื่อขอให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการคลังเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบและดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดย
มาตรการดังกล่าวยังได้รับการคัดค้านจากเวทีระดับโลกโดยสมาคมผู้ปลูกยาสูบสากล (International Tobacco Grower Association) อันเป็นการรวมตัวของของเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบทั่วโลกผ่านการลงนามของเกษตรกรกว่า 200,000 ราย จาก 25 ประเทศที่ปลูกยาสูบทั่วโลก และมีรัฐบาลหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีการปลูกยาสูบได้แสดงท่าทีคัดค้านมาตรการดังกล่าวเช่นกัน
ขณะนี้เหลือเพียงสองสัปดาห์ก่อนที่การประชุมที่อุรุกวัยจะเริ่มขึ้น กระทรวงการคลังและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ที่บ่งบอกถึงความเห็นใจเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ หรือจะมีการดำเนินการใดๆ ที่จะปกป้องอาชีพของเกษตรกรเหล่านี้แต่อย่างใด ส.ย.ท จึงขอทวงถามไปยังกระทรวงการคลังเพื่อขอความชัดเจนในเรื่องนี้และขอให้รัฐบาลไทยสงวนท่าทีในการไปรับรองเอกสารใดๆ ในการประชุมที่อุรุกวัยในเดือนพฤศจิกายนนี้จนกว่าจะได้มีการหารือกันภายในประเทศและเกิดความเข้าใจถึงผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบกันเป็นที่เรียบร้อยก่อนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม 2547
ข้อมูลเพิ่มเติม
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปลูกยาสูบในอันดับต้นของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีการปลูกใบยาสูบทั้งสามสายพันธุ์ ได้แก่ เวอร์จิเนียใน 8 จังหวัดภาคเหนือ เบอร์เล่ย์ในจังหวัดสุโขทัยและเพชรบูรณ์ นครพนม และออเรียนทอลใน 17 จังหวัดในภาคอิสาน ประเทศไทยมีเกษตรกรชาวไร่ยาสูบมากกว่า 60,000 ครอบครัว ซึ่งอาชีพนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว และแรงงานซึ่งพึ่งพารายได้จากการปลูกยาสูบหลายแสนคน และสร้างรายได้จากการขายใบยาสูบกว่าปีละ 4,600 ล้านบาท
เกี่ยวกับส.ย.ท.
สมาคมผู้บ่ม ผู้เพาะปลูก และผู้ค้าใบยาสูบไทย (ส.ย.ท.) เป็นการรวมตันกันของกลุ่มเกษตรกรผู้บ่มและผู้ปลูกใบยาสูบสายพันธุ์เวอร์จิเนียในแปดจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอนและพะเยา
เกี่ยวกับสมาคมผู้ปลูกยาสูบสากล(ไอทีจีเอ)
สมาคมผู้ปลูกยาสูบนานาชาติ (ไอทีจีเอ) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2527 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเสียงให้กับชาวไร่ยาสูบหลายล้านคนทั่วโลก ไอทีจีเอมุ่งมั่นที่จะเป็นเวทีแสดงความเห็นของชาวไร่ยาสูบทั้งในระดับนานาชาติ และระดับท้องถิ่นเพื่อความมั่นคงในระยะยาวของชาวไร่ยาสูบ