วิกฤติแร่ใยหินพ่นพิษ! หวั่นมะเร็งลามทั่วไทย ดันเป็น‘วัตุอันตราย’ เสนอรัฐยกเลิกภายใน 2 ปี

พุธ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๐๑๐ ๑๔:๓๓
คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) จับมือองค์กรวิชาชีพสื่อฯ เปิดเวทีถกปัญหา “แร่ใยหิน มหันตภัยเงียบ คร่าชีวิตคนไทย” ลั่นชงมติเสนอรัฐ! ยกเลิกนำเข้าแร่ใยหินทุกประเภท วางกรอบ 2 ปี “สังคมไทย ไร้แร่ใยหิน” พร้อมปรับสถานะเป็น “วัตถุอันตราย ประเภท 4” ห้ามนำเข้า-ครอบครอง และห้ามผลิต! ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดึง สคบ.ปูพรหม 26 จังหวัดนำร่อง “ติดฉลากเตือนอันตราย” จากวัตถุที่มีส่วนประกอบแร่ใยหิน หวั่นมะเร็งลามทั่วไทย

คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “แร่ใยหิน มหันตภัยเงียบ คร่าชีวิตคนไทย” โดยมี นพ.สุรพจน์ สุวรรณพานิช รองประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ , ดร.นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ผศ.ดร.พญ.พิชญา พรรคทองสุข ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ น.ส สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้าร่วมการอภิปราย

นายแพทย์สุรพจน์ สุวรรณพานิช รองประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ประเด็น ที่อยู่ในระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคมนี้ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ โดยกระบวนการดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มเครือข่ายสมัชชาพื้นที่ทั่วประเทศได้พิจารณา ก่อนจะนำมติในแต่ละประเด็น เข้าสู่การพิจารณาในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

“การทำให้สังคมไร้แร่ใยหินต้องมีการจัดการแบบบูรณาการ ทั้งด้านการรณรงค์สร้างความรู้ ความตระหนัก ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ปลอดแร่ใยหิน การเฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการพัฒนาให้มีกฎหมายเข้มงวด เพื่อมุ่งไปสู่การใช้เลิกใช้แร่ใยหินอย่างถาวร ซึ่งข้อมูลในระดับสากล เช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ต่างมีมติให้ประเทศสมาชิก ห้ามใช้และขจัดแร่ใยหิน มาตั้งแต่ปี 2549-2550 ขณะเดียวกันกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีมติเสนอให้รัฐบาลไทยยกเลิกการนำเข้าและใช้แร่ใยหินทุกประเภท ภายในปี 2555 หรืออีก 2 ปีนับจากนี้”

ขณะที่ นพ.สมเกียรติ กล่าวสรุปสถานการณ์ปัญหาแร่ใยหินในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกว่า 50 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้หรือห้ามนำเข้าแล้ว เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ สเปน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ เนื่องจากมีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่า “แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง” ทำให้ผู้ที่สูดดมฝุ่นละอองของแร่ใยหินเข้าไปสะสมในร่างกายเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด ตลอดจนโรคเกี่ยวกับปอดอื่น ๆ เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ ฯลฯ ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าในแต่ละปีจะมีผู้คนทั่วโลกที่ทำงานหรือต้องสัมผัสกับแร่ใยหินประมาณ 125 ล้านคน และในจำนวนนี้จะเสียชีวิตมากถึงปีละกว่า 100,000 คน

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ในประเทศไทยเริ่มมีการนำแร่ใยหินมาใช้เมื่อประมาณ 30-40 ปีที่ผ่านมา แต่ยังมีปริมาณน้อย จนเมื่อบ้านเมืองเจริญเติบโต มีสิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจขยายตัวออกไป ส่งผลให้ปริมาณการใช้แร่ใยหินมากขึ้นตามไปด้วย และปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าแร่ใยหินประมาณปีละ 150,000 ตัน โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศรัสเซีย และแคนาดา ซึ่งมีเหมืองแร่ใยหินเพื่อการส่งออก แต่ได้มีการห้ามใช้แร่ใยหินภายในประเทศ โดยแร่ใยหินที่นำเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 90% จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมซีเมนต์

“เราต้องสร้างความรู้ให้แก่ประชาชน เช่น มีการติดฉลากเตือนอันตราย รณรงค์ให้มีการลดและเลิกการใช้แร่ใยหิน ต้องมีการพัฒนาระบบทางการแพทย์เพื่อเฝ้าระวังและตรวจพิสูจน์โรคที่เกิดจากแร่ใยหิน นอกจากนี้ต้องมีการประสานกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ มหาวิทยาลัย นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ที่สำคัญก็คือ หน่วยงานภาครัฐต้องเป็นตัวอย่างในการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เช่น หากจะสร้างโรงพยาบาลขึ้นมาใหม่ ก็ต้องไม่มีการใช้ผลิตภัณฑ์จากแร่ใยหิน”

ทางด้าน ผศ.พญ.พิชญา เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการ ต่างรณรงค์ให้เลิกใช้วัสดุที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน และเห็นตรงกันว่าควร “ยกเลิกการใช้” แต่ก็มีผู้ประกอบการที่ยังนำเข้ามากว่า 30 ปี โดยประเทศไทยมีอัตราการนำเข้าเป็นอันดับที่ 4 รองจากจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ที่น่าตกใจก็คือ มีการบริโภคมากติดอันดับ 2 ของโลก รองจากรัสเซีย ในอัตราการบริโภคประมาณ 3 กิโลกรัม/คน/ปี ซึ่งหากคนไทยยังใช้แร่ใยหินต่อไปคาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยที่เกิดโรคจากแร่ใยหิน ปีละประมาณ 1,300 คน

“เครือข่ายสมัชชาสุขภาพฯมีข้อเสนอเร่งด่วนให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายคณะกรรมการวัตถุอันตราย ปรับสถานะแร่ใยหินจากวัตถุอันตรายประเภท 3 (ต้องขออนุญาตนำเข้า ครอบครอง และผลิต) ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ซึ่งหมายถึงการห้ามนำเข้า ห้ามครอบครอง และห้ามผลิต โดยเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะผลักดันให้มาตรการดังกล่าว มีผลบังคับใช้ออกมาโดยเร็ว”

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคได้พยายามผลักดันให้มีการ “ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน” แต่เพื่อให้ผู้ประกอบการมีระยะเวลาเตรียมตัว จึงเสนอให้หยุดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินภายใน 1 ปี และให้มีการยกเว้นภาษีวัตถุทดแทนแร่ใยหิน จากเดิมที่เคยเก็บในอัตรา 5% เพื่อเป็นการจูงใจผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ตั้งกองทุนเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหิน และเตรียมเสนอให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) แก้ไขในเรื่องการติดฉลากเตือนผู้บริโภค ซึ่งแต่เดิมเพียงเตือนว่า “อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ” ให้แก้ไขเป็น “ผลิตภัณฑ์นี้มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ อาจก่อให้เกิดมะเร็งและโรคปอด”

“ขณะนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 26 จังหวัดนำร่อง เพื่อตรวจสอบว่ามีสินค้าใดได้ติดฉลากเตือนบ้างแล้ว และขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบการติดประกาศบนผลิตภัณฑ์ที่มีการยกเลิกใช้แร่ใยหิน เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดแร่ใยหิน” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวในตอนท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version