สืบเนื่องจาก ก.ล.ต. ได้รับแจ้งข้อสังเกตจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมน่าสงสัยของบุคลากรรายหนึ่งของ บล.ยูบีเอส ซึ่งรับผิดชอบการซื้อขายหลักทรัพย์ตามคำสั่งของลูกค้าสถาบันของบริษัทดังกล่าว
จากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2552 ถึงวันที่13 ตุลาคม 2552 นายนำกฤติซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย International Equity Salesของ บล.ยูบีเอส และรับผิดชอบการให้บริการนายหน้าซื้อขายให้แก่ลูกค้าสถาบันในประเทศและต่างประเทศได้กระทำผิดต่อหน้าที่โดยทุจริต โดยอาศัยโอกาสจากการรู้ข้อมูลคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าสถาบันนัดแนะกับพวกของตนให้เข้ามาจับคู่ซื้อขายกับลูกค้าของ บล.ยูบีเอส ในลักษณะเอาเปรียบและทำให้ลูกค้าเสียหาย โดยลูกค้า บล.ยูบีเอส ต้องซื้อหลักทรัพย์ในราคาแพงหรือขายหลักทรัพย์ได้ในราคาถูก ทั้งที่ในขณะนั้นในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผู้ให้ราคาเสนอขายหรือเสนอซื้อที่ดีกว่า แต่นายนำกฤติกับพวกกลับเป็นฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากราคาที่ดีที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นเอง
กล่าวคือ ในกรณีที่ลูกค้า บล.ยูบีเอส ต้องการขายหลักทรัพย์ แทนที่นายนำกฤติจะนำหลักทรัพย์ของลูกค้าไปขายให้กับผู้ให้ราคาเสนอซื้อที่ดีที่สุด (เสนอซื้อแพงสุด) ในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในขณะนั้น นายนำกฤติกลับนำหลักทรัพย์ดังกล่าวไปจับคู่ขายให้กับพวกของตนโดยวิธี put through บนกระดานรายใหญ่(big lot board) หรือกระดานต่างประเทศ (foreign board) ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่มีเสนอซื้อในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในขณะนั้น และเมื่อจับคู่ซื้อขายแล้ว พวกของนายนำกฤติก็เป็นฝ่ายนำหลักทรัพย์ไปขายทำกำไรในกระดานหลักเสียเอง หรือในทางกลับกัน หากลูกค้า บล.ยูบีเอส ต้องการซื้อหลักทรัพย์ แทนที่นายนำกฤติจะเข้าไปซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์ฯ จากผู้เสนอขายที่ให้ราคาที่ดีที่สุด (เสนอขายถูกสุด) นายนำกฤติจะให้พวกของตนไปซื้อหลักทรัพย์ที่ราคาดังกล่าวในกระดานหลักแทน แล้วนำหลักทรัพย์นั้น
มาจับคู่ขายให้กับลูกค้า บล.ยูบีเอส ในราคาที่สูงขึ้นโดยวิธี put through บนกระดานรายใหญ่ หรือกระดานต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้นายนำกฤติกับพวกจึงได้กำไรในทุกรายการที่เกี่ยวข้องกับการจับคู่ซื้อขายกับลูกค้าบล.ยูบีเอส โดยไม่มีความเสี่ยง
ก.ล.ต. ตรวจสอบพบพฤติกรรมข้างต้นของนายนำกฤติกับพวกรวมกว่า 600 รายการ ผ่านรายการซื้อขายที่มีมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท และทำให้นายนำกฤติกับพวกได้รับกำไรเฉพาะจากส่วนต่างของราคาซื้อขายหลักทรัพย์ราว 37 ล้านบาท
ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษนายนำกฤติกับพวก คือ นายปวริศ ภัทร์วงศธร นางสาวมีนา กำแพงแก้ว นายภัทรธำรงวิทย์ นางสาวชลาลัย สาลิวรรธนะ นางสาวดวงเดือน ลิ้มสุธาโภชน์ และนางสาวรสธร กิตติคุณธนสารซึ่งสมรู้ร่วมคิดหรือช่วยเหลือสนับสนุนกระทำการดังกล่าว อันเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 311 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษและเนื่องจากนายนำกฤติ จีรพุทธิรักษ์ นางสาวชลาลัย สาลิวรรธนะ นางสาวดวงเดือน ลิ้มสุธาโภชน์และนางสาวรสธร กิตติคุณธนสาร มีฐานะเป็นบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนอยู่ด้วยจึงต้องห้ามมิให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นบุคลากรในตลาดทุนในระหว่างที่ถูกกล่าวโทษ โดย ก.ล.ต. ได้เพิกถอนการขึ้นทะเบียนของบุคคลทั้งสี่รายข้างต้นแล้ว
สำหรับ บล. ยูบีเอส ในกรณีนี้ เนื่องจากระบบของบริษัทไม่พบข้อผิดปกติแม้ว่ารายการข้างต้นจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก.ล.ต. จึงได้สั่งให้บริษัททบทวนกลไกการกำกับดูแลภายในให้มีประสิทธิภาพและรัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่ง ก.ล.ต. จะพิจารณาดำเนินการตามควรต่อไป ส่วนผู้ลงทุนสถาบันที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำโดยทุจริตของนายนำกฤติ มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ บล.ยูบีเอส รับผิดชอบในการชดเชย
ความเสียหายอย่างเป็นธรรมได้ ซึ่ง ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจาก บล.ยูบีเอสว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวให้แก่ลูกค้า
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ธุรกิจหลักทรัพย์เป็นธุรกิจที่ดำรงอยู่ได้บนความไว้วางใจของผู้ใช้บริการ การที่บุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชนกระทำทุจริตต่อหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองหรือพวกพ้อง จึงเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้เพราะการกระทำดังกล่าวมีผลมิใช่เพียงแค่ทำลายบ้านที่อาศัยของตนเองเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดทุนโดยรวมด้วย จึงเป็นหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่งที่จะต้องดูแลรักษาบ้านของตัวเองให้เรียบร้อยอยู่เสมอ และต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉยต่อการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ของตนเพื่อดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต”
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอีก ก.ล.ต. ได้มีหนังสือเวียนกำชับบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งให้เพิ่มความระมัดระวังและต้องมีระบบในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานที่รัดกุมเข้มงวดมากยิ่งขึ้น