ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายนนี้ เวลา 21.30 — 22.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ มาดูกันแบบช็อทต่อช็อทว่ากว่าจะเป็นชุดราตรียาวสวยงามที่ว่านั้น ยากเย็นแค่ไหน ผ้าไหมพิมพ์ลายพิเศษ “กุหลาบเวียงพิงค์” จะถูกทำให้โดดเด่นได้อย่างไร อะไรคือสิ่งที่ต้องคำนึงถึงสำหรับการตัดชุดให้นางงาม และผู้แข่งขัน “เดอะ ดีไซเนอร์” ทั้ง 6 ชีวิต ใครที่จะจัดการกับภารกิจระดับชาติที่ได้รับมอบหมายนี้ได้ดีที่สุด ในโจทย์ “นางสาวไทย 2553” โดยครั้งนี้เป็นการทำงานรายบุคคล ที่สามารถแสดงความคิด และตัวตนได้อย่างเต็มที่ โดยได้รับสิทธิ์พิเศษที่จะเลือกเพื่อนที่ตกรอบไปก่อนหน้ามาช่วยกันทำ ภายในเวลา 1 วัน 1 คืน หรือ 36 ชั่วโมง โดยมี เจี๊ยบ - พิจิตรา บุณยรัตพันธ์ ให้ความรู้ พร้อม โจอี้ - อรวิภา กนกนทีสวัสดิ์ นางสาวไทยปี 2552 ร่วมให้ความคิดเห็นว่าชุดที่นางสาวไทยต้องการเป็นอย่างไร
ผลปรากฏว่าชุดที่ได้รับการคัดเลือกสวมใส่บนเวทีประกวดนางสาวไทย รอบ 3 คนสุดท้ายนั้น ได้แก่ชุดของ เกียรติ - นายเกียรติกร เจริญพานิช, แมนดี้ - นายชนะพล เล็กประเสริฐ และเบียร์ - นายเฉลิม อินทลักษณ์ โดยนางสาวไทยคนล่าสุด กิ๊ฟ-น.ส.กฤชภร หอมบุญญาศักดิ์ ได้สวมใส่ผลงานการออกแบบของ เกียรติ - นายเกียรติกร เจริญพานิช หนุ่มผู้มีชั่วโมงบินสูงจนน่าจับตา ซึ่งเกียรติเผยว่า “โจทย์นี้นึกถึงคนใส่มากที่สุด ตั้งใจทำเป็นพิเศษ เพราะเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ตัดสินชีวิตนางสาวไทย โดยชุดนี้เน้นความมั่นใจเมื่อสวมใส่มาเป็นอันดับแรก เน้นรูปร่าง เข้ารูป เผยผิวในส่วนที่ควรเผย ความยากอยู่ที่ชิ้นอก ซึ่งต้องคำนวณโครงสร้างให้พอดี เล็กหรือหลวมไปจะดูไม่สวย เพิ่มความมั่นใจด้วยสายเสื้อเส้นเล็กๆ 1 ข้าง จึงไม่ต้องกังวลเรื่องเกาะอกจะหลุดระหว่างเดิน ตัวกระโปรงเป็นทรงหางปลาเข้ารูป ด้วยลายผ้าเป็นดอกไม้ทั้งตัว จึงนึกถึงกิ่งไม้ที่เลื้อยพันอย่างอิสระ จึงนำผ้าขาวอัดพลีท มาตกแต่งห้อยยาวที่ด้านหน้า เพิ่มลูกเล่นและเบรกสายตา”
ขณะที่ โอปอ — น.ส. วรรัตน์ นิยมเดช รองนางสาวไทย อันดับ 1 สวมใส่ผลงานการออกแบบของ แมนดี้ - นายชนะพล เล็กประเสริฐ เจ้าของผลงานที่มองข้ามไม่ได้ ซึ่งแมนดี้เผยว่า “เมื่อนำนางสาวไทยและผ้าไหมมาคู่กัน ทำให้นึกถึงความเป็นไทย และที่มาก่อนที่จะมาเป็นผ้าไหมสวยงาม ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน จึงได้แรงบันดาลใจมาจากตัวหม่อน ดักแด้ ที่มีรังไหมห่อหุ้มตัว ด้านบนของชุดจึงทำเป็นคอเซ็ท โครงหนาแข็ง บุด้วยผ้าแคนวาสด้านใน เย็บโบนให้เป็นโครงสร้างที่แข็งแรง ใส่แล้วจะไม่แนบลำตัว ดูตั้งๆ พองๆ ทันสมัย ซึ่งเป็นส่วนที่ทำยากที่สุด ท่อนล่างเน้นการวางลายผ้า เพิ่มความมั่นใจให้ผู้สวมใส่ แก้ไขปัญหาสะโพกใหญ่ ด้วยการนำผ้าสีขาวลักษณะโปร่งบาง มาซ้อนทับช่วงสะโพกเป็นการพรางหุ่น ทั้งยังเป็นการเฟดสี จากอ่อนไปหาเข้ม บนสีขาว กลางมีผ้าโปร่งบังลาย ล่างเป็นลายดอกกุหลาบ ส่วนด้านหลังจับจีบช่วงกลางหลังเพิ่มความสง่าเวลาเยื้องย่าง”
ปิดท้ายที่ อุ๋ม — น.ส.สิริมา อรชร รองนางสาวไทย อันดับ 2 สวมใส่ผลงานการออกแบบของ เบียร์ - นายเฉลิม อินทลักษณ์ หนึ่งในผู้แข่งขันที่มีฝีมือพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเบียร์เผยว่า “เมื่อพูดถึงชุดสำหรับนางสาวไทย เบียร์นึกถึงความสวย ความสง่า และความมั่นใจ ซึ่งต้องลงตัวอยู่ในชุดเดียว โดยออกแบบเป็นชุดเกาะอก เทคนิคอยู่ที่ตัดเย็บบีบช่วงเอวเล็กน้อย ด้านในบุผ้าหนา เมื่อสวมใส่แล้วจะดันให้ตัวยืด ดูสง่าขึ้น โดยทั้งชุดเน้นการตัดต่อผ้าที่ตนเองถนัดมาใช้ ให้เกิดเป็นลวดลายสลับกับสีขาว ซึ่งลวดลายที่โค้งมนตามเส้นโค้งของรูปร่างจะช่วยให้ผู้สวมใส่ดูดี มีสัดส่วนได้รูป ร่วมทั้งมีรูปร่างที่เพรียวขึ้น ส่วนที่ยากที่สุดเป็นการตีเกร็ด เป็นการต่อผ้าชิ้นเล็กให้เข้ารูป ค่อยๆ บานออกตามสะโพก ดูมีวอลุ่ม ไม่แข็งทื่อ นอกจากนี้ ยังเอาลายผีเสื้อมาทำเป็นป๊อปอัพ ตกแต่งบนชุด เสมือนหญิงสาวที่ได้ปลดปล่อย โบยบินอย่างเป็นอิสระ”
มาดูกันแบบช็อทต่อช็อทว่ากว่าจะเป็นชุดราตรียาวสวยงามที่ว่านั้น ยากเย็นแค่ไหน ผ้าไหมพิมพ์ลายพิเศษ “กุหลาบเวียงพิงค์” จะถูกทำให้โดดเด่นได้อย่างไร อะไรคือสิ่งที่ต้องคำนึงถึงสำหรับการตัดชุดให้นางงาม ในโจทย์ “นางสาวไทย 2553” ...ร่วมลุ้นและเป็นกำลังใจให้พวกเขาและเธอก้าวไปสู่ฝันพร้อมกัน ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายนนี้ เวลา 21.30 — 22.30 น. กับรายการ “เดอะ ดีไซเนอร์” ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ พร้อมชมโฉมหน้า 5 คนสุดท้ายที่จะได้พิชิตตำแหน่ง “เดอะ ดีไซเนอร์” ก่อนแข่งขันในรอบตัดสินจริง 21 พฤศจิกายน 2553 นี้
หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด โทร.02-434-8300, 0-2434-8547
คุณสุจินดา , คุณแสงนภา , คุณปิติยา