มูลนิธิเพื่อนหญิงยื่นหนังสือถึง พม. หนุนเป็นต้นแบบรณรงค์ความเท่าเทียมเรื่องเพศ ชูแนวคิด “สองเราเท่าเทียม” ลดเจตคติชายเป็นใหญ่

อังคาร ๑๖ พฤศจิกายน ๒๐๑๐ ๑๕:๒๘
มูลนิธิเพื่อนหญิง พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ชายเลิกเหล้า ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กกว่า ๒๐๐ คน เดินทางเข้าพบ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้ส่งเสริมความ เสมอภาคหญิงชายและยุติปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง ในโอกาสเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ภายใต้แคมเปญ “สองเราเท่าเทียม” เพื่อลดเจตคติชายเป็นใหญ่ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีสิทธิและบทบาทในสังคมมากขึ้น ในโอกาสนี้ รมว.พม.ยังได้ร่วมทำกิจกรรมฉีกข้อความ “ชายเป็นใหญ่” และกิจกรรมรีดผ้า บนรถขนาดใหญ่ที่จำลองเป็นบ้าน เพื่อแสดงถึงความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อนหญิงและเครือข่ายผู้ชายเลิกเหล้าฯ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เห็นถึงบทบาทของ พม.ที่มีเป้าหมายสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคม จึงเสนอข้อเรียกร้องเพื่อนำไปพิจารณาคือ ๑.) พม.ต้องเป็นผู้นำสร้างความเท่าเทียมเรื่องเพศ ขยายผลเรื่องมิติหญิงชายไปยังกระทรวงอื่นๆ ไปจนถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานของรัฐทุกระดับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้ผู้ชายเปลี่ยนแนวคิด พฤติกรรมชายเป็นใหญ่ ๒. )สนับสนุนบทบาทผู้ชายให้มีส่วนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก และขอให้มีกลไกสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของผู้ชายต้นแบบ เป็นเครือข่ายผู้ชายยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กในทุกจังหวัด และ ๓.) พัฒนากลไกการฟื้นฟูผู้ชายที่กระทำความรุนแรง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ โดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่เคารพความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง

นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในหนึ่งวัน จะมีผู้หญิงถูกทำร้ายถึง ๗๓ ราย สาเหตุส่วนใหญ่นั้น มาจากการกระทำของคนในครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิด ซึ่งถึงแม้จะได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ เพื่อให้เกิดผลบังคับใช้ในรูปกฎหมายขึ้น แต่ในความเป็นจริงยังมีผู้หญิงบางส่วนที่ไม่รู้และเข้าไม่ถึงสิทธิเหล่านั้น ประกอบกับเจตคติชายเป็นใหญ่ ที่ยังไม่หายไปจากสังคมไทย ที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้มีการรณรงค์ให้ผู้หญิงรู้ถึงสิทธิหน้าที่ของตนเอง ไม่เป็นผู้ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว และออกมามีบทบาทในสังคมให้มากขึ้น เช่น การเดินรณรงค์ยุติความรุนแรง ร่วมกันติดริบบิ้นสีขาว โดยไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว การกำหนดให้สมาชิกในสภาเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ประกอบไปด้วยหญิงและชายในอัตราส่วนที่เท่ากัน เพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ เป็นต้น ทั้งนี้ จะนำข้อเสนอในวันนี้ไปพิจารณา และร่วมรณรงค์ให้ในเรื่องนี้อย่างจริงจังให้มากขึ้นต่อไป.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม