กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--วช.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)กำหนดจัดการแถลงข่าว เรื่อง “การจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยกลุ่มจังหวัด (4 ภูมิภาค)” ในวันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน 2548 ณ ห้องเจมินี่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร โดยมี ศาสตราจารย์อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี การแถลงข่าว เวลา 14.00 น.
ตามที่รัฐบาลได้เริ่มจัดให้มีการจัดทำแผนงบประมาณในเชิงบูรณาการเพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการผลักดันยุทธศาสตร์เฉพาะของรัฐบาล (AGENDA) และนโยบายจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาล ที่จำเป็นต้องดำเนินงานในลักษณะบูรณาการร่วมกันหลายกระทรวงและหลายกลุ่มพื้นที่ (กลุ่มจังหวัด-จังหวัด) โดยมีผู้รับผิดชอบในระดับนโยบายคือรองนายกรัฐมนตรีเป็น ผู้กำกับดูแลสั่งการและติดตามการดำเนินงานรวมทั้งมีกระทรวง-หน่วยงานหลักเป็นเจ้าภาพ ในการประสานงานกับหน่วยงาน และกลุ่มจังหวัด-จังหวัดที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณ มีประสิทธิภาพเกิดความคุ้มค่า และสัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น โดยในด้านการวิจัยนั้นนับตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2545 ให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนงบประมาณการวิจัยของประเทศในเชิงบูรณาการ และล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2547 เห็นชอบให้มีแผนงบประมาณเชิงบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 เรื่อง ยุทธศาสตร์งานด้านการวิจัย โดยให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลัก ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยที่สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์หลักของประเทศมาเป็นลำดับ และเผยแพร่ไปยังหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติและดำเนินโครงการวิจัยเชิงบูรณาการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ
สำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยฉบับต่อไป ในปี พ.ศ. 2550-2552 นั้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดไว้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงเห็นควรให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยกลุ่มจังหวัดในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศขึ้น โดยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานด้านการวิจัย และหน่วยงานพัฒนารวมทั้งฝ่ายปฏิบัติงานในทุกภาคส่วน (รัฐ เอกชน องค์กรเอกชนไม่ค้ากำไร ประชาชน) อันจะนำไปสู่การผลักดันและเกื้อหนุนให้การดำเนินงานวิจัยสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล (AGENDA) แผนบริหารราชการแผ่นดิน หน้าที่ของหน่วยงาน (FUNCTION) และความต้องการของพื้นที่ (AREA) และทำให้การจัดทำ ยุทธศาสตร์การวิจัยกลุ่มจังหวัดเกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อการพัฒนาภูมิภาคต่าง ๆ และทำให้เกิดประสิทธิผลต่อการพัฒนาประเทศโดยรวมด้วย
วช. จึงได้มอบหมายให้สถาบันอุดมศึกษาใน 4 ภูมิภาคเป็นแกนในการศึกษาและจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยกลุ่มจังหวัดในทุกภูมิภาค โดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือกลุ่มเป้าหมายในการจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยที่ประกอบด้วย กรรมการสาขาวิชาการต่าง ๆ ของสภาวิจัยแห่งชาติที่ทำงานในภูมิภาคนั้น หน่วยงานจัดทำ ยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด เครือข่ายการพัฒนา เครือข่ายวิจัย หน่วยงานวิจัย ธุรกิจเอกชน NGOs และประชาชน ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานตามขั้นตอนของการทำแผน ยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยที่มีการวิเคราะห์ศักยภาพ (SWOT Analysis) ด้วย ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับ
มอบหมายทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินการในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ (15 จังหวัด) มหาวิทยาลัยขอนแก่นดำเนินการในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (21 จังหวัด) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง รวมกรุงเทพฯ (26 จังหวัด) และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดำเนินการในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ (14 จังหวัด) โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นเดือนกันยายน 2548
ยุทธศาสตร์การวิจัยของกลุ่มจังหวัดแต่ละภูมิภาคที่จะจัดทำขึ้น จะมีความเชื่อมโยงกับประเด็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดและจังหวัด ที่สามารถตอบสนองนโยบายรัฐบาลและแผนบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีเนื้อหาที่สำคัญประกอบด้วย ศักยภาพทางการวิจัย ประเด็นปัญหาสำคัญทั้งด้านการพัฒนาและการวิจัย วิสัยทัศน์ด้านการวิจัย พันธกิจด้านการวิจัย เป้าประสงค์ด้านการวิจัย ประเด็นยุทธศาสตร์การวิจัย ทิศทางการวิจัย แผนงานวิจัยหรือโครงการวิจัยขนาดใหญ่โดยระบุตัวชี้วัด เป้าหมาย และประเด็นการวิจัยย่อยตามลำดับความสำคัญ งบประมาณที่คาดว่าจะใช้ในแต่ละแผนงานวิจัยหรือโครงการวิจัยขนาดใหญ่ กำหนดระยะเวลาของแต่ละแผนงานวิจัยหรือโครงการวิจัยขนาดใหญ่ และหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักและผู้รับผิดชอบร่วม ทั้งนี้ เพื่อที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติจะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ (พ.ศ.2550-2552) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2548 นี้ และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการวิจัยและเสนอของบประมาณการวิจัยต่อไป--จบ--