โดยทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เข้ามาเพิ่มศักยภาพของท้องถิ่นเพื่อที่จะขยายผลการดำเนินงานของ “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ” ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมเรื่อง “การบูรณาการสู่ตำบลสุขภาวะ” แก่เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ภายใต้ “โครงการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการจัดการสุขภาวะโดยชุมชน” โดยมีฐานการเรียนรู้ต่างๆ มากมายที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนทุกเพศทุกวัย
นายธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ทาง สสส. ได้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เราเป็นศูนย์เรียนรู้กับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นๆ การที่เราเป็นศูนย์เรียนรู้ ก็เท่ากับว่าช่วยให้เราได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นๆ และได้พัฒนาตนเองมากขึ้น เป็นโอกาสดีที่จะทำให้ชุมชนพัฒนาตนเองมากขึ้น
“การที่จะขยายผลแนวคิดเหล่านี้ไปสู่ชุมชนอื่นได้นั้น จะต้องเริ่มต้นจากการที่ให้เขาได้มาเห็นของจริง มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะสร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจ ให้เขากลับไปออกแบบโครงการหรือกิจกรรมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่นของตนเอง เพราะที่ปากพูนเราไม่ได้นำเสนอในเรื่องของกิจกรรม แต่เรานำเสนอในเรื่องของแนวความคิดว่า กิจกรรมหรือโครงการอย่างนี้เกิดขึ้นมาเพราะว่าเราคิดอย่างไร ซึ่งเราให้ความสำคัญกับความคิดชุมชนด้วย แล้วจึงออกมาเป็นนโยบายหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ชุมชนขับเคลื่อนร่วมไปกับทาง อบต.” นายธนาวุฒิกล่าว
ตัวอย่างกิจกรรมที่สร้างจิตสำนึกให้คนชุมชนให้เห็นคุณค่าของการทำความดี อุทิศตัวทำงานเพื่อชุมชน พร้อมทั้งปลูกจิตสำนึกในการทำความดีให้กับเด็กและเยาวชน โดยเชื่อมโยงกับกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนวัยใสหัวใจซุกซน และกิจกรรมต่างๆ ของอบต. ภายใต้ชื่อว่า “ธนาคารความดี” และ “ธนาคารเวลา” ซึ่งตั้งอยู่ที่ “ร้านค้าเวลาดี” ที่ทาง อบต.ปากพูน เปิดขึ้นเพื่อจำหน่ายสินค้าของกินของใช้ อุปกรณ์การเรียน ของเด็กเล่น ให้แก่สมาชิก โดยเงินไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าภายในร้านได้ นอกจาก “คะแนน” ที่ได้มาจากความดีและเวลาที่เสียสละทำงานเพื่อชุมชนมาแลกสิ่งของที่ต้องการ
คุณลุงสุจินต์ ดึงไตรย์ภพ อายุ 67 ปี ผู้จัดการร้านค้าเวลาดี ชาวบ้านจิตอาสาที่มาช่วยดูแลงานด้านสวัสดิการชุมชนให้กับ อบต.ปากพูน เล่าให้ฟังว่าร้านค้าแห่งนี้เกิดขึ้นจากกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยมีสมาชิกกว่า 7,000 คน และสินค้าภายในร้านส่วนหนึ่งมาจากการบริจาคของคนในชุมชน โดยสินค้าทุกอย่างไม่ขายแต่จะให้สมาชิกในชุมชนนำเอาคะแนนที่สะสมไว้ในสมุดบัญชีธนาคารความดีและธนาคารเวลามาแลกซื้อไปโดยไม่ต้องเสียเงิน
“สมาชิกของกองทุนฯ จะมีสมุดบัญชีสะสมคะแนนความดีและเวลา ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็ทำความดีด้วยการช่วยเหลือชุมชนในด้านต่างๆ หรือสละเวลาไปช่วยงานหรือกิจกรรมเพื่อส่วนรวม ก็จะลงรายละเอียดไว้ในสมุดแล้วก็จะนำไปให้ นายก อบต. หรือผู้ที่มีอำนาจลงนามรับรองก็จะได้รับคะแนนสะสมเก็บไว้ ส่วนเด็กและเยาวชนเงื่อนไขจะไม่ยุ่งยาก เพียงแค่ขยันไปเรียนหนังสือทุกวัน เรียนพิเศษยามว่าง หรือแม้แต่ช่วยงานพ่อแม่ที่บ้านโดยให้คุณครูหรือผู้ปกครองเซ็นรับรอง ก็จะได้รับคะแนนความดีสะสมไว้ในสมุด เมื่ออยากจะได้อะไรในร้านก็เอาคะแนนความดีมาแลกคูปองเพื่อไปซื้อสินค้าต่างๆ ที่ต้องการ” ลุงสุจินต์เล่าถึงรูปแบบของร้านค้า
เด็กชายไชยวัฒน์ พุทธสารพันธ์ หรือ “น้องแมน” อายุ 11 ปี นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนวัดศรีมงคล เล่าถึงวิธีการสะสมคะแนนความดีว่า เมื่อมาเรียนหนังสือที่โรงเรียน ก็จะให้ครูประจำชั้นเป็นผู้เซ็นรับรอง หรือถ้าช่วยพ่อกับแม่ทำงานบ้านก็จะสามารถได้รับคะแนนสะสมเช่นกัน
“เริ่มสะสมคะแนนด้วยการจดบันทึกการทำความดีต่างๆ ไว้ในสมุดมาตั้งแต่ ป.3 ถ้าอยากจะได้อะไรในร้านก็นำเอาคะแนนไปแลกคูปองมาแลกสินค้าภายในร้าน วันนี้แลกของที่อยากได้หมดแล้ว แต่ก็สะสมคะแนนเพิ่มได้อีกถ้าตั้งใจไปเรียนหนังสือทุกวัน” น้องแมนบอก
เด็กชายจักรกฤษณ์ ขันอ่อน หรือ “น้องนุ” อายุ 12 ปี นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนไตรภูมิวิทยา เล่าให้ฟังว่านอกจากไปเรียนหนังสือตามปกติแล้ว ยังสามารถสะสมคะแนนได้จากการมาเรียนพิเศษในช่วงหลังเลิกเรียนหรือในวันเสาร์อาทิตย์ที่โรงเรียนวัยใสหัวใจซุกซน ซึ่งวันนี้น้องนุมีคะแนนสะสมมากถึง 157 คะแนน
“ช่วงปิดเทอมก็จะมีการเรียนพิเศษวิชาต่างๆ หรือไปทำกิจกรรมเช่นนักสืบสายน้ำ ก็จะได้สะสมคะแนนเก็บไว้ เช่นมาเรียนหนังสือหรือทำงานนักสืบสายน้ำก็จะได้คะแนนความดีชั่วโมงละ 3 คะแนน วันนี้จะเอาคะแนนที่สะสมได้มาแลกอุปกรณ์การเรียนเช่นสมุดภาพวาดและดินสอสีต่างๆ” น้องนุบอก
ด้าน เด็กหญิงภันทิรา หนูคูขุด หรือ “น้องกัน” อายุ 10 ปี นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนห้วยไทร เล่าให้ฟังพร้อมกับอุ้มตุ๊กตาตัวใหญ่ที่แลกมาด้วยคะแนนความดีของตัวเองว่า“คะแนนที่ได้มาจากการที่ขยันไปเรียนหนังสือทุกวันไม่เคยขาดเรียน ถึงจะเอาคะแนนแลกคูปองไปหมดแล้วแต่ก็สามารถสะสมเพิ่มได้ใหม่ แค่ตั้งใจไปเรียนหนังสือ” น้องกันบอก
ทันตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวถึงแนวทางการสร้างสุขภาวะของชุมชนปากพูนว่า ทาง อบต.ปากพูนมีจุดเด่นในเรื่องของการเชื่อมโยงการทำงานทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา การพัฒนาเด็ก สุขภาพ คุณภาพชีวิต ฯลฯ นำประเด็นเหล่านี้มารวมเข้าด้วยกันและเชื่อมโยงกันจนเกิดประโยชน์กับทุกคนชุมชน โดยที่ให้คนชุมชนมีส่วนร่วมในทุกๆ กระบวนการทำงาน
“การนำเอาความต้องการของชุมชนเป็นตัวตั้ง แล้วนำมาออกแบบเป็นกิจกรรมทั้งหมด ทำให้ตำบลปากพูนเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบในด้านการพัฒนาเป็นตำบลสุขภาวะที่น่าสนใจมาก เพราะในปัจจุบันเรามีตำบลต้นแบบ 18 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราสามารถขยายผลการดำเนินงานออกไปในหลายๆ ตำบล ให้ชุมชนในลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ก็จะทำให้คนไทยและประเทศไทยมีความสุขมากยิ่งขึ้น” ผู้จัดการ สสส. กล่าวสรุป.