ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตธนาคารกรุงไทย แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

จันทร์ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๐๑๐ ๑๒:๐๙
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ที่ ‘BBB’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C/D’ รายละเอียดอันดับเครดิตอื่นๆ ซึ่งฟิทช์ประกาศคงอันดับเช่นกัน แสดงอยู่ในส่วนท้าย

อันดับเครดิตของ KTB โดยหลักมาจากการถือหุ้นใหญ่และการสนับสนุนที่แข็งแกร่งของรัฐบาล KTB เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 18.5% และมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่จัดตั้งโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 55% ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ KTB จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหากมีความจำเป็น เนื่องจากเป็นธนาคารขนาดใหญ่และความสำคัญต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคาร อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารได้รวมการพิจารณาถึงความแข็งแกร่งของเครือข่ายการดำเนินงานในประเทศของธนาคาร และสถานะทางการเงินของธนาคาร โดย KTB ยังคงมีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามคุณภาพสินทรัพย์และอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น

KTB มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้นสำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 21% เป็น 11.4 พันล้านบาท และอัตรากำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวม (ROA) ที่ 0.9% ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้ที่สูงขึ้นจากการเติบโตของสินเชื่อ (เพิ่มขึ้น 11% จากสิ้นเดือนกันยายน 2552) และรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของ KTB ปรับตัวลดลงเป็น 3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (จาก 3.2% ในปี 2552) เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำ เช่น สินเชื่อที่ปล่อยให้กับภาครัฐและเงินกู้ระหว่างธนาคารและตลาดเงิน ทั้งนี้ผลการดำเนินงานโดยรวมในปี 2553 ของ KTB คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 และมีโอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2554 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น

แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจมีทิศทางอ่อนแอลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารยังสามารถปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารปรับตัวลดลงเป็น 81.8 พันล้านบาท หรือ 7% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 (85.5 พันล้านบาท หรือ 8% ณ สิ้นปี 2552) แต่อย่างไรก็ตามสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าธนาคารอื่น ทั้งนี้สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษของ KTB อยู่ในระดับทรงตัวที่ 19.8 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 หรือ 1.7% ของสินเชื่อรวม (19.1 พันล้านบาท หรือ 1.8% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2552) และยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น สำรองหนี้สงสัยจะสูญของ KTB ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมาเป็น 45.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 แต่อย่างไรก็ตามอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ที่ 56% ของธนาคารยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่สูงกว่า 80% ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ธนาคารอาจจะต้องมีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติม แม้ว่าระดับสำรองหนี้สงสัยจะสูญแบบเฉพาะเจาะจง (specific reserves) จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น แต่ระดับสำรองหนี้สงสัยจะสูญทั่วไป (general reserves) นั้นอยู่ในระดับที่ต่ำ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารมีสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐอยู่ในระดับที่สูงกว่า (17% ของสินเชื่อรวม) ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับต่ำ

ความสามารถในการระดมเงินทุนและสภาพคล่องของ KTB ยังคงอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เนื่องจากธนาคารเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีฐานลูกค้าเงินฝากที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย โดยพนักงานรัฐวิสาหกิจและข้าราชการส่วนใหญ่จะใช้บริการเงินฝากกับธนาคาร อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคาร ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 อยู่ที่ 96.8% อย่างไรก็ตามอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ประมาณ 88% หากรวมตั๋วแลกเงิน (B/E) ซึ่งโดยทั่วไปถือเป็นผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทหนึ่งสำหรับผู้ฝากเงิน KTB มีเงินกองทุนอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยธนาคารมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราเงินกองทุนรวมที่ 9.5% และ 15.2% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553

การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของประเทศอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตระยะยาวและระยะสั้นของ KTB เนื่องจากอันดับเครดิตดังกล่าวพิจารณาถึงการสนับสนุนจากรัฐบาล อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Individual Rating) อาจได้รับการปรับเพิ่ม หากผลกำไรและคุณภาพสินทรัพย์มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการที่ธนาคารสามารถรักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจถูกปรับลดลง หากปัจจัยดังกล่าวปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อันดับเครดิตของตราสารหนี้และตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของ KTB เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการจัดอันดับเครดิต โดยตราสารหนี้ดังกล่าวยังสามารถชำระดอกเบี้ยได้ตามปกติ อันดับเครดิตของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่า 2 อันดับจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตในประเทศระยะยาวของธนาคารที่ไม่ได้พิจารณารวมการสนับสนุนของรัฐบาล โดยเป็นการพิจารณาเฉพาะความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร (implied unsupported IDR และ unsupported National long-term rating) โดยเฉพาะระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งและกำไรสะสมที่อยู่ในระดับสูง (54.8 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำมาพิจารณาเพื่ออนุมัติการชำระดอกเบี้ยของตราสารดังกล่าว หากธนาคารประสบผลขาดทุนจากการดำเนินงาน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ธนาคารไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ ระดับความแตกต่างของอันดับเครดิตจึงอาจปรับเพิ่มขึ้นได้ หากปัจจัยด้านความแข็งแกร่งทางการเงินดังกล่าวปรับตัวอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธนาคารแห่งประเทศไทยมีการระบุในเรื่องการไม่อนุมัติให้ธนาคารชำระดอกเบี้ย ในกรณีที่ธนาคารประสบผลขาดทุนจากการดำเนินงาน

ฟิทช์คงอันดับเครดิตดังต่อไปนี้:

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว Issuer Default Rating (IDR) ที่ ‘BBB’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’

- อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน (Individual Rating) ที่ ‘C/D’

- อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB-’

- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ ‘BBB’

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1 Securities) ที่ ‘BB’

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA(tha)’

- อันดับเครดิตภายในประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ ‘A(tha)’

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO