ผู้อำนวยการศัลยกรรมหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
สาเหตุหนึ่งของโรคอัมพฤกษ์ และอัมพาต (stroke) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว มีคราบไขมัน (plaque) ไปสะสมบริเวณผนัง หลอดเลือดจนกระทั่งนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดตีบ การไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนไปสู่สมองลดลง จนนำไปสู่การเกิด อัมพฤกษ์ และ อัมพาต ในบางกรณีอาจเกิดจาก การที่หลอดเลือดแดงปริแตก ซึ่งส่งผลให้เกร็ดเลือดมาจับเกาะในบริเวณนั้น จนกลายเป็นก้อนอุดตันหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง
อาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง ที่ควรทราบ ได้แก่
1. มีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยวหรือชา ครึ่งซีก เป็นทันทีทันใด
2. พูดไม่ออก พูดอ้อแอ้ไม่ชัด เป็นทันทีทันใด
3. ตาข้างใด ข้างหนึ่ง มองไม่เห็น หรือเห็นภาพซ้อน เป็นทันทีทันใด
4. เดินเซ เสียสมดุล เป็นทันทีทันใด
5. ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เป็นทันทีทันใด
ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน ศัลยแพทย์สามารถแก้ปัญหาการอุดตันของคราบไขมันบริเวณหลอดเลือดคอได้แล้ว ด้วยการผ่าตัดเปิดหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง หรือที่เราเรียกกันว่า “Carotid endarterectomy” (CEA) เพื่อนำเอาคราบไขมันที่อุดตันในหลอดเลือดออกจากผนังของหลอดเลือดแดงใหญ่ ที่อยู่บริเวณด้านข้างคอทั้งสองข้าง ทำให้หลอดเลือดบริเวณดังกล่าวสามารถส่งเลือดที่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้อย่างเพียงพอ
Carotid endarterectomy (CEA) คือ การผ่าตัดเปิดหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง เพื่อนำเอาคราบไขมันที่อุดตันในหลอดเลือดออกจากผนังของหลอดเลือด ซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงใหญ่อยู่ด้านข้างคอทั้งสองข้าง ทำหน้าที่ส่งเลือดที่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ผลการผ่าตัดหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ในผู้ที่มีหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน หรือผู้มีอาการ mini-stroke หรือสมองขาดเลือดเลี้ยงชั่วคราว (Transient Ischemic Attack: TIA) ซีงมีอาการอัมพฤกษ์อัมพาตชั่วคราวแล้วหายไปใน 24 ชั่วโมง ได้เป็นอย่างมาก
โรคหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง เกิดเนื่องจากมีคราบไขมัน (plaque) ที่เกิดจากการสะสมของไขมัน คลอเลสเตอรอล แคลเซียม สะสมจับเป็นก้อนบริเวณหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง จนเป็นปื้นแข็งทำให้หลอดเลือดแคบลง หรือปริแตกทำให้เกร็ดเลือดมาจับเกาะบริเวณนั้นเป็นก้อนอุดตันหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมองลดการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนไปสู่สมอง ทำให้เกิดอัมพฤกษ์และอัมพาต (stroke)
ผู้ป่วยที่เป็นโรค เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และชอบสูบบุหรี่ จะมีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมองสูงมากขึ้น และผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์จากหลอดเลือดสมองอุดตัน ร่วมกับมีการตีบตันของหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมองอย่างรุนแรง จะมีความเสี่ยงของการเกิดอัมพฤกษ์หรืออัมพาตใหม่สูงขึ้นเป็นทวีคูณ
ด้วยความก้าวหน้าของการแพทย์ในปัจจุบัน ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง เพื่อลอกคราบไขมันอุดตันในหลอดเลือดออกจากหลอดเลือดคอ ทำให้หลอดเลือดปราศจากการอุดตัน ลดโอกาสที่ลิ่มเลือดจากบริเวณคราบอุดตันที่หลอดเลือดแดงตีบ หลุดไปอุดตันหลอดเลือดในสมอง และทำให้เลือดไหลเวียนจากหัวใจไปเลี้ยงสมองได้อย่างสะดวก
ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการผ่าตัดหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง Carotid endarterectomy (CEA)
1. ผู้มีภาวะก่อน stroke
2. ผู้มีอาการ mini-stroke หรือสมองขาดเลือดเลี้ยงชั่วคราวซึ่งมีอาการอัมพฤกษ์อัมพาตชั่วคราวแล้วหายไปใน 24 ชั่วโมง
3. ผู้ที่ตรวจพบหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมองตีบอย่างรุนแรง แม้ไม่มีอาการอัมพฤกษ์อัมพาต
การผ่าตัด
การผ่าตัดหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมองโดยศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ใช้เวลาน้อยกว่า 2 ชั่วโมง และนอนในโรงพยาบาล 1-2 วัน (CCU 1 วัน, ward 1 วัน) เพื่อแพทย์สามารถดูแลในกรณีที่มีอาการแทรกซ้อน โดยผู้ที่ได้รับการผ่าตัดหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมองส่วนใหญ่สามารถกลับไปทำกิจวัตรปกติได้ภายใน 3 สัปดาห์หลังผ่าตัด
ผลแทรกซ้อนของการผ่าตัด
เกิดขึ้นน้อยมากในมือของศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์
โอกาสเกิดหลอดเลือดสมองอุดตันระหว่างผ่าตัดประมาณ 1-3 %
ควรทำการผ่าตัดเมื่อใด
ควรผ่าตัดโดยเร็วหลังจากมีอาการของหลอดเลือดสมองอุดตัน (อัมพฤกษ์) หรือปรึกษาแพทย์ทันทีหากผลการตรวจหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมองมีการตีบอย่างรุนแรง แม้ไม่มีอาการก็ตาม
โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ มีศัลยแพทย์และมีประสบการณ์ พร้อมที่จะให้ข้อมูลและแนะนำทางเลือกในการรักษา และให้บริการการผ่าตัด carotid endarterectomy กับผู้ที่ได้รับการประเมินว่ามีการตีบของหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมองอย่างรุนแรง และเหมาะสมสำหรับเข้ารับการผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองอุดตันใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 023103000 โรงพยาบาลกรุงเทพ