SCB EIC ระบุฝ่าวิกฤติพลังงาน ดีที่สุดคือปรับปรุงประสิทธิภาพ

อังคาร ๒๓ พฤศจิกายน ๒๐๑๐ ๑๗:๓๕
SCB EIC ระบุฝ่าวิกฤติพลังงาน ดีที่สุดคือปรับปรุงประสิทธิภาพ ชี้ตัวอย่างแค่เพียงทุกคนเปลี่ยนจากใช้แอร์เบอร์ 3 มาเป็นเบอร์ 5 จะช่วยลดการใช้พลังงานเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้า 800 MW 1 โรง

นางเมธินี จงสฤษดิ์หวัง ผู้อำนวยการ (Head of Research) เปิดเผยว่า SCB EIC (Economic Intelligence Center) ได้วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มการใช้พลังงานในภาคการบริโภคซึ่งประกอบด้วย ภาคที่อยู่อาศัย การค้า และการขนส่ง ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่พบผลการศึกษาที่เผยแพร่เป็นการทั่วไปในไทย โดยการศึกษามุ่งเน้นไปที่การใช้พลังงานในภาคการบริโภคเนื่องจากมีสัดส่วนถึงกว่าครึ่งของความต้องการพลังงานทั้งหมดและมีแนวโน้มเติบโตสูง อีกทั้งยังมีปัจจัยขับเคลื่อนในหลายมิติที่น่าสนใจ ชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายสำหรับทุกภาคส่วนในการจัดการด้านพลังงานในอนาคต จากการศึกษาพบว่า ความต้องการพลังงานในภาคบริโภคจะเติบโต 4% ต่อปีในช่วงปี 2009-2020 เร่งตัวจากอดีตในช่วง 10 ปีก่อนที่ระดับ 3.5% หรือเติบโตราว 1.5 เท่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าซึ่งเร็วกว่าการเติบโตของการผลิตพลังงานในอนาคตที่เดิมเติบโตราว 1.5 เท่าใน 10 ปีที่แล้ว หรือ เพียง 1.2 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พูดง่ายๆ คือ อุปทานโตเร็วไม่ทันกับอุปสงค์ ส่งผลให้เกิดวิกฤติพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การประหยัดและปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดทางหนึ่งในการเพิ่มแหล่งพลังงาน ตัวอย่างเช่นแค่เพียงทุกคนเปลี่ยนจากใช้เครื่องปรับอากาศเบอร์ 3 มาเป็นเบอร์ 5 จะช่วยลดการใช้พลังงานเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 800 MW ได้ 1 โรง

นางเมธินี กล่าวว่า “โดยทั่วไปการขยายตัวทางเศรษฐกิจมักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องชี้ในการประมาณการแนวโน้มการใช้พลังงาน แต่ถ้าจะดูแนวโน้มในระยะยาว พบว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะใช้ในการประมาณการ เห็นได้จากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การใช้พลังงานไม่ได้ผันแปรไปตามภาวะเศรษฐกิจนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานในภาคที่อยู่อาศัยและภาคการค้าที่ไม่ได้ปรับตัวลดลงตาม GDP ที่ปรับลดลง คำถามที่ตามมาคือ แล้วอะไรเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการพลังงานในภาคการบริโภคในอนาคต”

“ปัจจัยที่มีผลต่อการใช้พลังงานในภาคการบริโภคค่อนข้างมากคือพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงระดับรายได้ โครงสร้างอายุของประชากร ตลอดจนการย้ายถิ่นไปสู่สังคมเมือง ตัวอย่างเช่น หากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของบุคคล 2 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง โดยหากเทียบคนแรกซึ่งมีอายุ 30 ปี อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด มีรายได้เดือนละ 10,000 บาท กับอีกคนหนึ่งที่อายุเท่ากัน แต่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และมีรายได้สูงกว่าคือเดือนละ 40,000 บาท พบว่ามีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานมากกว่าคนแรกถึงเกือบ 7 เท่า สะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีผลต่อการใช้พลังงานในภาคการบริโภคในอนาคตมากยิ่งขึ้น” นางเมธินีกล่าว

นางสาวปราณิดา ศยามานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโสของ SCB EIC กล่าวว่า “SCB EIC ได้พัฒนาแบบจำลองการใช้พลังงานที่เจาะลึกในแต่ละภาคและตามชนิดของพลังงาน เพื่อคาดการณ์แนวโน้มในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยพบว่า ความต้องการพลังงานในภาคบริโภคจะเติบโต 4% ต่อปีในช่วงปี 2009-2020 โดยภาคการค้าจะเติบโตสูงที่สุดถึงเกือบ 2 เท่า ส่งผลให้ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยความต้องการไฟฟ้าของทั้งภาคการค้าและภาคที่อยู่อาศัยจะเพิ่มขึ้นราว 5% ต่อปีในอีก 10 ปีข้างหน้า ขณะที่การใช้พลังงานในภาคขนส่งจะเติบ 1.5 เท่า โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากการขนส่งทางอากาศ ทั้งนี้ ปัจจัยขับเคลื่อนการใช้พลังงานนอกจากจะมาจากผลของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคแล้ว การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิผิวโลก ราคาพลังงาน ตลอดจนปัจจัยเฉพาะอื่นๆ เช่น การเพิ่มขึ้นของพื้นที่อาคารสำนักงาน การขยายตัวของการท่องเที่ยว รวมถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ล้วนแล้วแต่มีผลต่อแนวโน้มการใช้พลังงานในระยะยาวและทำให้การประมาณการมีความแม่นยำและใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น”

นางเมธินี กล่าวเสริมว่า “การใช้พลังงานในภาคการบริโภคที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องภายใต้ข้อจำกัดของแหล่งพลังงานที่มีอย่างจำกัดทำให้ธุรกิจพลังงานต้องเผชิญกับความท้าทายในการจัดหาแหล่งพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการในอนาคต ธุรกิจโรงไฟฟ้าจะต้องเผชิญกับความท้าทายในการหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เติบโตสูง ภายใต้การต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่น่าจะแก้ไขได้ในเวลาอันสั้น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดทางหนึ่งก็ยังมีปัญหาอีกมาก ขณะที่ธุรกิจปิโตรเลียมเองก็ต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งในด้านแหล่งพลังงาน และความต้องการพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่การส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนก็ยังมีข้อจำกัดด้านวัตถุดิบที่มีความไม่แน่นอนและมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงการเพิ่มแหล่งพลังงานที่ดีที่สุดคือการประหยัดและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการผลิตและพัฒนาแหล่งพลังงานต้องอาศัยเวลาและเงินลงทุนสูง สิ่งที่สามารถทำได้ในเวลาอันสั้น เห็นผลเร็ว และมีความยั่งยืนกว่า คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือแค่เพียงทุกคนในไทยเปลี่ยนจากใช้เครื่องปรับอากาศเบอร์ 3 มาเป็นเบอร์ 5 จะช่วยลดการใช้พลังงานเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 800 MW มูลค่าการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ได้ 1 โรง”

นางเมธินี กล่าวทิ้งท้ายว่า “ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่มีอยู่จำกัดเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น หากทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจยังมีพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างเดิมๆ หรือขาดความร่วมมือในการสร้างแหล่งพลังงานจนลืมคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของประเทศเป็นที่ตั้งแล้ว ในวันหนึ่งข้างหน้าที่ไม่นานจากนี้ คนไทยอาจได้รู้จักและคุ้นเคยกับประสบการณ์ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง หรือที่เรียกว่า brownout และ blackout เป็นแน่”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ