สสวท. ได้ร่วมมือกับสถาบันเกอเธ่ และสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย จัดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ มาตั้งแต่ พ.ศ.2548 ต่อมาได้มีหน่วยงานหลักเพิ่มเติม คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัทไบเออร์ไทย จำกัด และหน่วยงานอื่น ๆ เข้าร่วมสนับสนุนการจัดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ทุกปี โดยในปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2553
เทศกาล ฯ ครั้งนี้ นอกจากเจ้าภาพจะฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ณ ศูนย์จัดฉายหลายแห่งทั่ว ทั้ง กทม. และปริมณฑลแล้ว สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังได้จัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สัญจร 26 ศูนย์ทั่วประเทศ
ผศ. ดร. รัชดาภรณ์ เบญจวัฒนานนท์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย บอกกับเราว่า คณะวิทยาศาสตร์ มรภ.เลย อยู่ขอบชายแดนของประเทศไทย ดูแลพื้นที่ใกล้เคียง 2-3 จังหวัด และเป็นพื้นที่ค่อนข้างห่างไกล ทุกปีเมื่อจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ เช่น สัปดาห์วิทยาศาสตร์ ก็จะมีนักเรียนชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา ทั้งในจังหวัดเลย และ จังหวัดใกล้เคียงมาร่วมกว่าหมื่นคน และค่อนข้างเป็นนักเรียนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา จึงรับเป็นศูนย์จัดฉายเพื่อให้โอกาสที่ดีแก่นักเรียนเหล่านี้ ได้เปิดโลกทัศน์ ได้เห็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ของแต่ละประเทศว่าเป็นอย่างไร มองโลกกว้างขึ้น มีวิสัยทัศน์ที่ดีขึ้น ไปปรับใช้กับชีวิตได้
“ภาพยนตร์ที่จัดฉายในเทศกาลนี้ ต่างก็แทรกความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ผู้รับได้ความบันเทิงควบคู่แทรกไปโดยที่เขาไม่รู้ตัว เป้าหมายการจัดกิจกรรมที่ศูนย์นี้ ผู้จัดตั้งเป้าว่าจะมีผู้ชมสี่พันคน แต่ผลตอบรับครั้งนี้เกินความคาดหมาย มีสถานศึกษาสนใจเข้าชมเยอะ มีผู้เช้าชมประมาณห้าพันคน จึงต้องเพิ่มรอบฉาย ปีหน้าอยากให้ สสวท. เน้นในส่วนของการจัดนิทรรศการให้เยอะขึ้น จะได้ให้ความรู้แก่ผู้ชมครบเครื่องไปเลย และอยากจะให้จัดทุกปี”
ภาพยนตร์ที่จัดฉาย มี 11 เรื่อง ซึ่งทางผู้จัดได้คัดสรรมาอย่างดีให้สนุก และมีเนื้อหาที่เหมาะสมกับความสนใจ และเหมาะต่อการเรียนรู้ของเด็กแต่ละช่วงวัย เนื้อหาหนังค่อนข้างกระชับ และเวลาที่จัดฉาย ไม่ยาวจนเกินไป ทุกเรื่องพากษ์ไทย เพื่อไม่ให้ผู้ชมรู้สึกเบื่อ
ซึ่งได้แก่ 1) ภาพยนตร์เรื่อง กิ้งก่าปลูกป่า จากประเทศสเปน 2) ก่อนจะมาเป็นเชื้อเพลิงสีเขียว จากประเทศเดนมาร์ค 3) รายการเมาส์ทีวี ตอนไปเล่นรถไฟเหาะ จากประเทศเยอรมัน 4) รายการเก้านาทีครึ่ง ตอน ดาร์วิน บิดาแห่งนิเวศวิทยา จากประเทศเยอรมัน 5) รายการไอกอทอิท ตอน หนอนไหม จากประเทศไทย6) เปิดโลกวิทยาศาสตร์ ตอน ค้นหาความเร็วเสียง จากประเทศญี่ปุ่น 7) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ยักษ์ใหญ่ของโลก จากประเทศเยอรมัน 8) รายการ อ๋อ นี่คือความรู้ ตอน เพื่อนแสนรัก จากประเทศเยอรมัน 9) รายการดอกฟันสิงโต ตอน ใครว่าแก๊ส Co2 ไม่รักษ์โลก ! จากประเทศเยอรมัน 10) ตามรอยบรรพบุรุษ ยุคแคมเบรียน จากประเทศสเปน 11) น้ำท่วมกรุงเทพ จากประเทศไทย
เด็ก ๆ จากโรงเรียนต่าง ๆ ทยอยกันมาเข้าชมเป็นรอบ ๆ ตั้งแต่ช่วงเช้า จนถึงช่วงบ่าย บ้างก็มาจากโรงเรียนในตัวอำเภอเมือง บ้างก็เดินทางมากจากโรงเรียนริมแม่น้ำ บ้างก็มาจากโรงเรียนใกล้ภูเขา จากอำเภอต่าง ๆ เช่น ครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านวังสะพุง โรงเรียนบ้านนาซ่าว โรงเรียนบ้านท่าดีหมี โรงเรียนบ้านปากยาง โรงเรียนบ้านท่าศาลา โรงเรียนบุ่งตาข่าย โรงเรียนบ้านซำไฮ โรงเรียนเทคโนโลยีเลยบริหารธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งทั้งคุณครูและเด็ก ๆ พากันเดินทางมาด้วยความตั้งใจอยากจะชมภาพยนตร์กัน
ผู้ชมต่างก็บอกว่าสนุกมากในการชมภาพยนตร์ จากที่ได้เข้าไปชมภาพยนตร์พร้อม ๆ กับเด็ก ๆ พบว่า น้อง ๆ ให้ความสนใจกับภาพยนตร์มาก แม้แต่เด็กเล็ก ๆ ก็ยังชมภาพยนตร์อย่างใจ จดจ่อ ร่วมยิ้ม หัวเราะ และหวาดเสียวไปกับภาพยนตร์แต่ละฉาก
ดังเช่น รายการเมาส์ทีวี ตอนไปเล่นรถไฟเหาะ นำเสนอได้อย่างตลกและน่าหวาดเสียว น้อง ๆ ผู้ชมดูแล้วอุทานเป็นระยะ ๆ และทำท่าลุ้นไปด้วย เหมือนกับว่าได้ขึ้นไปนั่งอยู่บนรถไฟเหาะตีลังกากับ ผู้แสดงจริง ๆ พร้อมทั้งได้เรียนรู้อัตราการเต้นหัวใจว่าเร็วกว่าปกติในช่วงที่นั่งรถไฟเหาะ และยังได้รู้ว่าทำไมเวลานั่งรถไฟเหาะถึงได้รู้สึกเสียวที่ท้อง
เปิดโลกวิทยาศาสตร์ ตอน ค้นหาความเร็วเสียง มุกตลกกับบทบาทการแสดงของผู้แสดงแต่ละคน เรียกเสียงหัวเราะจากน้อง ๆ กันอย่างเกรียวกราว ภาพยนตรืเรื่องนี้น้อง ๆ ได้เรียนรู้เรื่องการเดินทางของเสียงกิ้งก่าปลูกป่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ โดดเด่นในด้านแอนิเมชั่น จึงไม่น่าแปลกใจที่สามารถสะกดความสนใจจากเด็ก ๆ ได้อยู่หมัดรายการไอกอทอิท ตอน หนอนไหม เด็ก ๆ ด้รู้ว่ากว่าจะมาเป็นผ้าไหมแสนสวยต้องผ่านขั้นตอนอย่างไรบ้าง และหนอนไหมมีวงจรชีวิตอย่างไร
หลังจากฉายภาพยนตร์จบแล้ว นักเรียนได้ร่วมตอบคำถามชิงรางวัลเพื่อทบทวนความรู้หลังจากที่ชมภาพยนตร์เพิ่งจบไปหมาด ๆ ในโรงฉายภาพยนตร์ ซึ่งงานนี้ สสวท. จัดเตรียมของรางวัลที่ถูกใจ เด็ก ๆ หลากหลายรูปแบบ เพื่อเชิญชวนให้ร่วมตอบคำถามดังกล่าว
นอกจากนั้น ทีมงานนักวิชาการ สสวท. นำโดย อ. สุพรรรณี ชาญประเสริฐ ยังได้ยกทีมไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับภาพยนตร์ที่จัดฉายให้นักเรียนได้ร่วมสนุกไปพร้อม ๆ กับได้รับความรู้จากกิจกรรม ณ ชั้นล่าง ของศูนย์คอมพิวเตอร์ ฯ ด้วย ได้แก่ กิจกรรมผ้าไหมมาจากไหนเอ่ย บันทึกโลก ทดลองเรื่องเสียง รถพลังงานไฮโดรเจน และเกมจิ๊กซอว์ทวีปเลื่อน
มาดูกันว่าน้อง ๆ ชอบเรื่องใดกันบ้าง เด็กชายเอกพิเศษ สกุลปัน (เน้น) ป. 3 โรงเรียนหทัยคริสเตียน อ. เมือง จ. เลย บอกว่า ชอบดูภาพยนตร์เกี่ยวกับสัตว์ ได้รู้ว่า ตอนที่แมวครางจะรู้สึกดี เพราะได้ระบายความเครียด รถไฟเหาะทำให้ลำไส้ปั่นป่วน การดูหนังวิทยาศาสตร์ทำให้เรามีความรู้มากขึ้น สนุกครับ เช่นเดียวกับ เด็กหญิงสวรินทร์ คำแก้ว (แนก) ป. 3 โรงเรียนหทัยคริสเตียน ที่บอกว่า หนังสนุก ไม่น่าเบื่อเลย มีประโยชน์ด้วย ปีหน้าอยากมาดูอีก
เด็กหญิงอังคณะ บุตรดา (จีน) ชั้น ป. 6 โรงเรียนบ้านท่าดีหมี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เล่าว่า ออกจากโรงเรียนตั้งแต่ 7.00 น. เพื่อมารอชมภาพยนตร์ที่จัดฉายตั้งแต่ 9.00 น. หนังที่ชอบที่สุดคือเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ยักษ์ใหญ่ของโลก ได้ความรู้และสนุกด้วย อยากมาดูอีก
คุณครูอมรรัตน์ กองแก้ว หรือ ครูมด โรงเรียนหฤทัยคริสเตียน อ.หนองหิน จ. เลย กล่าวว่า เหตุที่พาเด็ก ๆ มาชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์นั้น เพราะอยากให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ นอกจากการเรียนในชั้นเรียน การชมภาพยนตร์รอบนี้ ได้พานักเรียนชั้น ป. 1 และ ป. 2 มาชมจำนวน 100 กว่าคน ภาพยนตร์ที่ชมทำให้เด็ก ๆ ได้เห็นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และเรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเด็กประถมดูแล้วเข้าใจได้ง่าย มีวิธีการนำเสนอสนุก ๆ มายาวเกินไป ปีหน้าอยากให้จัดฉายที่จังหวัดเลยอีก ซึ่งจะพานักเรียนมาชมอีกแน่นอน
เด็กหญิงณัชชา แสงแก้ว (เนย) ป. 2 โรงเรียนหฤทัยคริสเตียน อ.หนองหิน จ. เลย ชอบทุกเรื่องที่ได้ชม ที่ชอบที่สุดก็คือ ภาพยนตร์กิ้งก่าปลูกป่า
ท่านใดที่พลาดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 6 ปีนี้ สามารถติดตามชมเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ปีต่อไปได้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีหน้า
ดูรายละเอียดที่ http://www3.ipst.ac.th/sciencefilm