นายสมบัติ กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงหน่วยงานในสังกัด ไม่ว่าจะเป็นกรมพลศึกษา การกีฬาแห่งประเทศไทย สถาบันการพลศึกษา หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทุกภาคส่วนมีความตระหนักถึงความสำคัญของคนพิการ โดยในส่วนของเรื่องที่จะให้คนพิการมีส่วนร่วมในการพิจารณาก่อสร้างสนามกีฬานั้น สามารถทำได้และเป็นการดีที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆและโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ใช้งานจริงในที่นี้ก็คือคนพิการเอง โดยในเบื้องต้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการจัดสร้างสนามกีฬา โดยครอบคลุมการให้บริการแก่คนพิการ ตามกฎกระทรวง กำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งในสนามกีฬาต่างๆ ได้จัดให้มีการอำนวยความสะดวกในด้านห้องน้ำสำหรับผู้พิการ ทางลาดในการขึ้นและลง ทางเดินและอักษรเบลในจุดต่างๆสำหรับผู้พิการทางสายตา
ในด้านการแข่งขันจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอำนวยความสะดวกแก่นักกีฬาคนพิการอย่างใกล้ชิด และกรมพลศึกษา สนามกีฬาแห่งชาติศุภชลาศัย ได้จัดให้มีพื้นที่สำหรับคนพิการในการเข้าชมกีฬาอย่างสะดวกสบายในด้านอัฒจรรย์มีหลังคา อาคารกีฬานิมิบุตรมีทางลาดขึ้นลงและลิฟท์ไว้คอยบริการ อีกทั้งยังมีหอพักสำหรับนักกีฬาคนพิการ อีกจำนวน 2 ห้อง พักได้จำนวน 20 คนต่อห้อง และยังมีทางลาดอเนกประสงค์ที่สามารถปรับเปลี่ยน การใช้งานได้ตามความเหมาะสม ในส่วนของสิ่งที่ต้องปรับปรุงก็คือ ราวกันตก ปรับปรุงป้ายต่างๆให้มีความชัดเจนมากขึ้น และสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ คลอง 6 ได้จัดสร้างเพื่อรองรับการใช้งานของนักกีฬาคนพิการไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสนามฮอกกี้ สนามเบสบอล อาคารบริการ เป็นต้น และที่กำลังจัดสร้างใหม่คืออาคารศูนย์อนุรักษ์มวยไทยแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาบุคลากรพลศึกษาแห่งชาติ อาคารอบรมสัมมนา ได้ออกแบบ และครอบคลุมถึงการใช้งานของคนพิการ ในส่วนของสนามกีฬาตำบล อำเภอ และสนามกีฬาจังหวัดที่ได้จัดสร้างไว้ก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎกระทรวงฯ นั้น ได้มอบหมายให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ปรับปรุงให้สามารถรองรับการใช้งานของคนพิการ โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเป็นปัจจุบัน สถาบันการพลศึกษา ก็ได้ดำเนินการปรับปรุงในส่วนของ ทางขึ้น-ลง ห้องน้ำให้รองรับคนพิการที่จะเข้ามาใช้บริการแล้ว จะขาดในส่วนของที่จอดรถของคนพิการเท่านั้น อีกทั้งสถาบันการพลศึกษาได้งบประมาณจำนวน 90 ล้านบาทเศษ ที่จะจัดสร้างศูนย์การการเรียนรู้ของสถาบันการพลศึกษา ที่จังหวัดชลบุรีนั้น จะดำเนินการตามกฎกระทรวงให้อย่างครบครัน เนื่องจากสถาบันการพลศึกษาเป็ฯหน่วยงานที่ให้บริการด้านการศึกษา โดยในวิทยาเขตจ.ยะลา ได้จัดทำหลักสูตร ให้มีการฝึกสอนกีฬาสำหรับคนพิการ
โดยในอนาคตสถาบันการพลศึกษาจะทำให้วิทยาเขตทั้ง 17 แห่งและโรงเรียนกีฬาอีก 11 แห่งทั่วประเทศ เป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้พิการอีกด้วย โดยตนได้มอบหมาย และวางแนวทางในการปรับปรุง โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมของคนพิการ แก่หน่วยงานต่างๆในสังกัด ให้สำรวจข้อมูลในหน่วยงานถึงสภาพปัจจุบันว่าขาดตกบกพร่องในด้านการให้บริการแก่ผู้พิการเพียงใด ออกแบบปรับปรุงในสิ่งที่บกพร่อง รวมถึงสร้างความตระหนักและให้คามสำคัญต่อสภาพแวดล้อมภายในหน่วยงาน อีกทั้งสนับสนุนให้มีการยกย่องหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในด้านการบริการแก่คนพิการ กระตุ้นภาคประชาชนซึ่งเป็นส่วนสำคัญให้มีส่วนร่วม ตามเจตนารม sport for all อย่างแท้จริงและเกิดความยั่งยืน
อนึ่ง ในส่วนของนายบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะประธานที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ฝากชี้แจงการกล่าวปฏิเสธในเรื่องของการอัดฉีด “น้องหยิน” สริตา ผ่องศรี นักกีฬาเทควันโดที่คว้าเหรียญทองแรก เอเชี่ยนเกมส์ ณ เมืองกว่างโจว ประเทศจีน จำนวน 1 ล้านบาท โดยนายบรรหาร ยืนยันว่าเป็นการเข้าใจผิด เนื่องจากมีความตั้งใจจะมอบให้แก่ทีมวอลเลย์บอลสาวไทยจำนวน 1 ล้านบาทจริงๆ หากได้เหรียญทอง แต่ทีมตบลูกยางสาวไทยไม่ได้ทำตามเป้าหมายที่ว่างไว้ จึงจะพิจารณาหาโอกาสอื่นๆที่เหมาะสมต่อไป