ไออาร์ซีผลิตยางนอกยางในรถจักรยานยนต์ออกจำหน่ายเมื่อ 40 ปีที่แล้ว โดยมีลูกค้า 2 กลุ่มคือ ตลาดผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ Honda Suzuki Yamaha Kawasaki และตลาดทดแทนทั่วประเทศ คือ บริษัท สิทธิผล 1919 จำกัดเป็นผู้จัดจำหน่าย และเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปีพ.ศ 2540 จึงได้ขยายฐานลูกค้าอีกกลุ่มคือ ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ทำให้เป็นการตลาดแบบ 3 ขามาจนปัจจุบัน
คุณพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล เหล่าจินดา ประธานกรรมการบริหารไออาร์ซีทีกรุ๊ป กล่าวว่า ไออาร์ซีที มีสายการผลิตชิ้นส่วนยางชนิดใหม่ๆออกมาเสมอตามคำสั่งซื้อของลูกค้า เพราะมีการวิจัยและพัฒนาคุณสมบัติของวัตถุดิบและคิดค้นสูตรของยางชนิดต่างๆ อยู่ตลอดเวลา โดยส่วนประกอบที่นำมาใช้นั้น ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยมากถึงน้อยที่สุด
ไออาร์ซี เป็นบริษัทแรกของประเทศไทยที่หันมาใช้วัตถุดิบในการผลิตยางรถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนยางแบบ Low PAH แม้ว่าในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาตั้งกฎว่าผู้ผลิตยางล้อห้ามใช้พลาสทิไซเซอร์ที่มีสารก่อมะเร็ง แต่บริษัทฯคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้และสังคมส่วนรวมเป็นสำคัญ ไออาร์ซีจึงเป็นโรงงานแห่งแรกและรายเดียวในประเทศไทย ที่มีการผลิตยางรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนยางอุตสาหกรรมมาตรฐานเดียวกับยุโรป
จากผลการตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี พบว่าในฝุ่นละอองที่เก็บตัวอย่างมีสารประกอบพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (polycyclic aromatic hydrocarbon : PAH) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งปนเปื้อนอยู่ด้วย โดยในช่วงหน้าแล้งจะมีสาร PAH เฉลี่ยมากกว่าในช่วงฤดูฝน 1-2 เท่า ทั้งนี้จากการวิเคราะห์แหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองขนาดเล็กพบว่าในทุกพื้นที่มีลักษณะที่คล้ายกัน
“สารชนิดนี้คือสารตกค้างที่เกิดจากการสึกหรอของยางล้อที่ใช้งานอยู่ทั่วไป ซึ่งส่วนประกอบของยางมีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ ดังนั้นไออาร์ซีจึงค้นหาสารพลาสติไซเซอร์ใหม่ ๆ (Extender oil) ที่นำมาผลิตยางแล้วไม่ก่อให้เกิดปัญหากับสภาพแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ อีกทั้งยังคงคุณสมบัติรวมทั้งประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ให้คงเดิม”
โดยทั่วไปสาร PAH มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่ำ ผลกระทบต่อมนุษย์จะพบความเป็นพิษเรื้อรัง สารชนิดนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเอนไซม์ในตับเปลี่ยนเป็น Hydroxypyrene แล้วถูกขับออกมาทางปัสสาวะ หากขับออกมาไม่หมดก็จะทำลายสารดีเอ็นเอให้เกิดการแตกหัก ซึ่งโดยปรกติร่างกายจะซ่อมแซมให้เป็นปรกติได้ด้วยตัวเอง แต่หากได้รับสารก่อมะเร็งซ้ำแล้วซ้ำอีกการแตกหักก็จะมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมดีเอ็นเอได้เอง เซลล์จะเปลี่ยนเป็นเซลล์ใหม่และเกิดการแบ่งตัวไม่ยอมหยุดจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ด้วยเหตุนี้ผู้ที่สูดดมฝุ่นพิษเป็นระยะเวลานานจึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารก่อมะเร็ง
“คณะวิจัยของ ไอ อาร์ ซี กรุ๊ป ค้นคว้าและทดลองสารพลาสติไซเซอร์ใหม่ ๆจนได้สูตรยางคอมเปาด์วใหม่ แล้วจึงนำยางไปผ่านในกระบวนการผลิตยางรถจักรยานยนต์ตัวอย่าง แล้วนำไปประกอบกับรถจักรยานยนต์ทดสอบภาคสนามเปรียบเทียบกับยางมาตรฐานเดิม แล้วปรับสูตรยางคอมเปาด์ว จนในที่สุดได้ยางรถจักรยานยนต์ที่มีมาตรฐานดีขึ้นกว่าเดิมและปลอดสารก่อมะเร็ง 100 % ใช้เวลากว่า 2 ปีในการศึกษาวิจัย ทดลอง พัฒนาและทดสอบ” คุณพิมพ์ใจกล่าวถึงกระบวนการวิจัยและพัฒนาและยังเผยว่า “ผลิตภัณฑ์อันหลากหลายของกลุ่มบริษัทฯ สนองต่อประชาคมทั้งคุณภาพ ความปลอดภัย ด้วยความใส่ใจจากจิตวิญญาณแห่งคุณภาพของทีมงานทุกคน สร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าและผู้บริโภค รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ยางนอก ยางใน รถจักรยานยนต์ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติแล้ว เรายังมีการบริหารจัดการเพื่อสนองต่อมิติทั้ง 4 ของความพึงพอใจของลูกค้า อันได้แก่ คุณภาพ ต้นทุน การจัดส่งตรงตามเวลา การบริการสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ของลูกค้า”
“จึงจะเห็นได้ว่า บริษัทไม่เพียงแต่มีความต้องการจะพัฒนา ผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายได้เพียงเท่านั้น แต่เรายังคำนึงถึงคุณภาพของทุกกระบวนการที่จะนำไปสู่การสร้างความพึงพอใจสูงสุดของกลุ่มลูกค้าอีกด้วย” ซีอีโอหญิงกล่าวในที่สุด