ก.ล.ต. อาเซียนผนึกกำลังพัฒนาตลาดทุนอาเซียนสู่ความมั่งคั่ง เทียบชั้นมาตรฐานสากล

พุธ ๐๑ ธันวาคม ๒๐๑๐ ๐๘:๓๒
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. ในฐานะประธาน ก.ล.ต. อาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum: ACMF) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ตลาดทุนอาเซียน ประตูสู่โอกาสแห่งความมั่งคั่ง” ในงานสัมมนาผู้ลงทุนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

นายธีระชัย กล่าวว่า “กลุ่มประเทศอาเซียนมีเจตนารมณ์อย่างแรงกล้าที่จะพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคให้มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว และนำความมั่งคั่งมาสู่ภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนอาเซียนมีสินค้าและช่องทางการลงทุนที่หลากหลาย สามารถกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิผล

ทั้งนี้ สอดคล้องกับการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งล่าสุด เมื่อเดือนตุลาคม 2553 ที่ประเทศเวียดนาม ที่ได้ให้ความเห็นชอบแนวคิด “การเชื่อมโยงอาเซียน” (ASEAN Connectivity) ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ อันเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินทุนอย่างมหาศาล ซึ่งจำเป็นต้องมีการระดมทุนผ่านตลาดทุนอาเซียน และลงทุนโดยผู้ลงทุนในอาเซียน

นอกจากนี้ยังมีแผนการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 (ASEAN Economic Community Blueprint 2015) โดยกำหนดให้มีการเปิดเสรีเพื่อเชื่อมโยงกันทั้งในด้านสินค้า บริการ ทุน และคน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและธุรกรรมทางการเงินของภูมิภาค

ที่ผ่านมาธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศส่วนใหญ่ถูกทำผ่านระบบธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก โดยไม่มีลักษณะที่ซับซ้อน แต่ในอนาคตธุรกรรมเหล่านี้จะมาใช้ช่องทางตลาดทุนมากขึ้น จึงต้องมีการเร่งพัฒนา เนื่องจากปัจจุบันตลาดทุนในอาเซียนแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ ระดับการพัฒนา รวมถึงแนวความคิด และความน่าเชื่อถือของตลาดแต่ละแห่ง”

นายธีระชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “ก.ล.ต. อาเซียน ด้วยความช่วยเหลือจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ได้ทำการศึกษาและจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาตลาดทุนสู่การรวมตลาด (Implementation Plan) อย่างเป็นขั้นตอนจนถึงปี 2558 และแผนดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน เมื่อเดือนเมษายน 2552 โดยตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันอาเซียนแบรนด์ให้เป็นสินค้าระดับโลก

แผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง มี 6 ด้านหลัก ดังนี้

หนึ่ง สินค้าอาเซียนแบรนด์ต้องมีคุณภาพดี ผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นในบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียน ซึ่ง ACMF จะมีโครงการประเมินและรายงานการจัดอันดับบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนอาเซียนให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการเปรียบเทียบ โดยการประเมินจะเริ่มในปี พ.ศ. 2555

นอกจากนี้ จะมีการดำเนินการเรื่องการยอมรับมาตรฐานบัญชีสากล หรือ International Financial Reporting Standards (IFRS) เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถนำงบการเงินของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดทุนของประเทศต่างๆ มาเปรียบเทียบกันได้ และการเปรียบเทียบกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศในด้านบรรษัทภิบาล เช่น หน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหาร และกรรมการอิสระ และความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละองค์กร เป็นต้น โดยจะขอให้ทุกประเทศเข้าร่วมโครงการประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านบรรษัทภิบาล หรือ โครงการ CG-ROSC (Corporate Governance - Report on the Observance of Standards and Codes) ซึ่งประเมินโดยธนาคารโลก

สอง การเปิดเผยข้อมูลในการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ภายในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ซึ่ง ACMF ได้มีการจัดทำมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลในอาเซียน (ASEAN and Plus Standards) สำหรับการเปิดเผยข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ที่ไม่ซับซ้อน โดยประเทศมาเลเซียเป็นผู้นำร่องประกาศใช้เกณฑ์นี้แล้ว ตามด้วยสิงคโปร์ และไทย ตามลำดับ ทั้งนี้ ASEAN and Plus Standards ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ เกณฑ์กลาง (ASEAN Standards) ที่ทุกประเทศในอาเซียนจะใช้ร่วมกัน และเกณฑ์เพิ่มเติม (Plus Standards) ซึ่งเป็นเกณฑ์ปลีกย่อยของบางประเทศที่มีอยู่อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และความจำเป็นทางด้านกฎหมายของประเทศนั้นๆ

ซึ่งจุดหมายในท้ายที่สุด คือจะต้องไม่มี Plus Standards เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนแก่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ข้ามประเทศ โดยให้มีการจัดทำหนังสือชี้ชวนเพียงชุดเดียว หรือที่เรียกว่า Single Passport

สาม การเสนอขายหลักทรัพย์ข้ามประเทศจะทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอขายหน่วยลงทุน (collective investment schemes: CIS) โดยได้มีกำหนดกรอบเวลาอย่างชัดเจนผ่านการยอมรับกฎเกณฑ์ซึ่งกันและกัน (mutual recognition) เพื่ออำนวยความสะดวกให้สินค้าที่ได้รับการอนุญาตแล้วในประเทศหนึ่งสามารถเสนอขายได้ในทุกประเทศในอาเซียน โดยไม่ต้องผ่านการขออนุญาตต่อหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศอื่นอีกครั้ง

การเสนอขาย CIS ต่อผู้ลงทุนสถาบันจะอนุญาตให้ทำได้ภายในครึ่งแรกของปี 2555 สำหรับผู้ลงทุนรายย่อย จะอนุญาตให้เสนอขาย CIS ที่ไม่ซับซ้อนภายในครึ่งหลังของปีเดียวกัน ส่วน CIS ที่ซับซ้อนจะอนุญาตให้เสนอขายได้ภายในปี 2556 ทั้งนี้ การเสนอขายจะต้องทำผ่านบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศเท่านั้นเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครอง นอกจากนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า CIS ที่จะเสนอขายแก่ผู้ลงทุนรายย่อยมีความเหมาะสม จึงได้มีการศึกษามาตรฐานหลักเกณฑ์การลงทุนของ CIS ของกลุ่มประเทศในยุโรปเป็นต้นแบบ เพื่อจะนำมาพัฒนาเป็นมาตรฐานอาเซียนต่อไป (ASEAN — UCITS : Undertaking for Collective Investments in Transferable Securities) โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2555

สี่ ผู้ลงทุนและตัวกลางสามารถเข้าถึงตลาดหลักทรัพย์หลักๆ ในอาเซียนได้โดยสะดวกและรวดเร็วภายใต้โครงการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน (ASEAN Exchange Linkage) ซึ่งการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ของประเทศในภูมิภาคจะอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนจากทั่วโลกสามารถเข้าถึงบริการได้จากจุดเดียว ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย (Bursa Malaysia) ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์(SGX of Singapore) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะนำร่องโครงการภายในครึ่งหลังของปี 2554 ตามด้วย ตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ ภายในครึ่งแรกของปี 2555 นอกจากนี้ ยังได้มีการริเริ่มโครงการ “ASEAN Stars” เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนชั้นนำในอาเซียนเป็นที่รู้จักในเวทีโลกด้วย

ห้า ผู้ลงทุนที่ลงทุนในสินค้าอาเซียนแบรนด์ต้องได้รับสิทธิและความคุ้มครองในระดับเดียวกัน แม้ว่าACMF จะได้พยายามเพิ่มศักยภาพในด้านความร่วมมือและการบังคับใช้กฎหมายแล้ว แต่ยังคงมีประเด็นข้อพิพาททั้งระหว่างผู้ลงทุนและผู้เสนอขายหลักทรัพย์ และระหว่างผู้ลงทุนด้วยกันเอง ซึ่งจะต้องมีการสร้างกลไกเพิ่มเติมให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายได้รับการเยียวยาทางกฎหมายด้วยต้นทุนที่ต่ำและสะดวก

ทั้งนี้ เลขาธิการอาเซียนจะจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้ และทาง ACMF จะจัดหากลไกเพื่อรองรับกรณีข้อพิพาทระหว่างผู้ลงทุนรายย่อยและบริษัทหลักทรัพย์ต่อไปด้วย

สุดท้าย คือ ภาระภาษีของแต่ละประเทศจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ โดยเลขาธิการอาเซียนรับที่จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเกี่ยวกับประเด็นภาษีต่อไป”

นายธีระชัย กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า “ภายใต้ความร่วมมือของ ก.ล.ต. อาเซียน ได้มีการกำหนดกรอบไว้อย่างชัดเจนล่วงหน้า ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจะส่งผลดีต่อทั้งภูมิภาคและผู้ที่เกี่ยวข้องโดยรวม โดยผู้ลงทุนจะมีสินค้าและทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย สามารถกระจายความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิผล และสินค้าที่ลงทุนมีคุณภาพ แต่ผู้ลงทุนก็ต้องมีการเตรียมพร้อม เปิดมุมมองใหม่ๆ ศึกษาและทำความคุ้นเคยกับสินค้าต่างประเทศไปด้วย

ในส่วนของผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทมหาชน ก็จะสามารถระดมทุนได้สะดวก มีต้นทุนต่ำ มีสภาพคล่องสูง เป็นที่รู้จักในเวทีต่างประเทศ แต่ก็ต้องไม่ละเลยที่จะพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอในเรื่องของความโปร่งใส การมีบรรษัทภิบาลที่ดี และการปกป้องสิทธิผู้ลงทุน

สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งนับเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมหรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้พร้อมรับโอกาสที่จะมีมากขึ้น ในขณะที่จะมีการแข่งขันเพิ่มขึ้นมากด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียนนี้มีทั้งข้อดีและข้อควรระวัง แต่อย่างไรก็ดี เป็นที่มั่นใจว่าผลประโยชน์จะตกอยู่กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในตลาดทุน”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version