กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ชวนเยาวชนร่วมเปิดฟ้าสัมผัสประสบการณ์ใหม่ “วิทยาศาสตร์อากาศยาน : เครื่องบินจำลอง”

อังคาร ๐๗ ธันวาคม ๒๐๑๐ ๑๓:๕๘
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักบริหารกลางสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ ฝ่ายบริหารค่ายวิทยาศาสตร์ สวทช. จัดกิจกรรม “คุยกัน..ฉันท์วิทย์” ภายใต้หัวข้อ “วิทยาศาสตร์อากาศยาน : เครื่องบินจำลอง” โดยมีนางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารค่ายวิทยาศาสตร์ สวทช. เป็นประธานพิธีเปิด พร้อมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์พิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เด็กชายมนตรี บรรจบ และเด็กชายณัฐพงศ์ รวมพล มาให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์การบิน พร้อมพบความบันเทิงจากศิลปินจากอคาเดมี่แฟนตาเซีย น้องตี๋ A4 ณ ห้อง Auditorium อาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 250 คน

นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารค่ายวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับกำลังเป็นที่นิยม และได้รับการตอบรับจากเยาวชนรวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุที่สำคัญก็เพราะเป็นการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์อากาศยานและช่วยสร้างสมาธิ อีกทั้งทำให้ทราบถึงประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีอากาศยานสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานแทนเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์จริงได้หลายรูปแบบ รวมไปถึงประโยชน์ทางด้านการทหาร งานด้านความมั่นคง การถ่ายภาพวีดีโอหรือถ่ายภาพมุมสูง งานสำรวจภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ทำให้ผู้เล่นได้รับทั้งความรู้ ความสนุกสนานและได้ฝึกสมาธิไปพร้อมกันด้วย

อาจารย์พิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการเริ่มบินเกิดจากตอนเป็นเด็กจะเห็นเครื่องบินๆ อยู่บนฟ้าของวันที่ 5 ธันวาคม และวันสำคัญของชาติ ซึ่งจะออกมานั่งดูจนมองไม่เห็นเครื่องบิน และชอบทำของเล่นที่เป็นเครื่องบิน เช่น นำเศษไม้มาประกอบเป็นรูปร่างที่คล้ายเครื่องบิน หรือนำกระดาษมาพับเป็นเครื่องบินรูปร่างต่างๆ เมื่อโตขึ้นก็ได้ซื้อเครื่องบินมาเล่นและได้เห็นเด็กๆ มายืนดูตอนฝึกบิน จึงคิดว่าไม่อยากเห็นเด็กเหล่านี้ขาดโอกาสเหมือนกับตนเองตอนเด็กๆ จึงเริ่มหาหนังสือเกี่ยวกับเครื่องบินมาอ่านและทดลองทำ รวมถึงนำหนังสือจากต่างประเทศมาแปลและตระเวนสอน จากนั้นจึงคิดก่อตั้งสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับขึ้น เพื่อถ้าวันไหนไม่มีแรงทำต่อก็ต้องมีคนอื่นทำต่อได้

วัตถุประสงค์สำคัญของการก่อตั้งสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ เพื่อให้เยาวชนมีความรู้เรื่องอากาศยานและการสร้างอากาศยานได้เหมือนกับต่างประเทศและพัฒนาเป็นเทคโนโลยีได้ โดยไม่ต้องพึ่งต่างชาติทั้งหมดและไม่ใช่ใช้เงินซื้ออย่างเดียว ซึ่งกิจกรรมของสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จะมีหน้าที่ให้ความรู้และจัดเวทีการแข่งขัน ซึ่งขณะนี้ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยได้ดำเนินการถ่ายทอดสดเป็นประจำทุกเดือนเฉพาะวันอาทิตย์ในเวลา 15.00-17.00 น. ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของผู้ที่จะเข้ามาเล่นกีฬาเครื่องบินจำลองนั้น ไม่ว่าใครก็สามารถสัมผัสและสร้างเล่นได้เอง โดยโครงการที่สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับดำเนินการอยู่ในปัจจุบันคือ การเดินทางไปให้ความรู้และสอนทำโครงสร้างทั่วประทศภายใต้ชื่อหนูน้อยจ้าวเวหาทีวีไทย

ทั้งนี้ สิ่งที่เยาวชนจะได้รับจากการเล่นเครื่องบินจำลองก็คือ ได้ความรู้ทางด้านอากาศยาน ได้ความสามัคคี และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้แรงบันดาลใจ เป็นการบูรณาการทางการศึกษาก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กได้ และที่สำคัญยังเป็นการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างดี เช่น เรื่องความดัน แรง และการเคลื่อนที่ โมเมนต์ และ ความสมดุล เป็นต้น ส่วนประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับสังคมก็คือการสร้างคุณภาพชีวิตให้กับเยาวชนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เพื่อใช้ในการปกป้องประเทศชาติ เพราะเมื่อคนมีคุณภาพก็ไม่เป็นภาระของสังคม

“สำหรับวิธีพัฒนาตนเองให้เป็นนักเล่นเครื่องบินจำลองที่ดีนั้น ผู้เล่นจำเป็นต้องอยู่ในกฎระเบียบของการเล่นและต้องรู้จักพัฒนาเปลี่ยนรูปแบบการเล่นอย่างสม่ำเสมอ ส่วนผู้ที่สนใจอยากเล่นและไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร ทางสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับมีอุปกรณ์ให้ยืมเล่นฟรีและสอนฟรี ขณะที่ความแตกต่างระหว่างวงการเครื่องบินจำลองของไทยกับของต่างประเทศมองว่า ต่างกันตรงที่บ้านเรานิยมเป็นผู้บริโภคมากว่าผู้ผลิต เรามักจะซื้อมาเล่นมากกว่าคิดที่จะประดิษฐ์และพัฒนาขึ้นมาเองซึ่งในต่างประเทศมีการสอนในโรงเรียนให้สร้างเครื่องบินเองทำให้มีการพัฒนาตลอดเวลา จึงอยากให้ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุนเด็กและเยาวชนในกีฬาเครื่องบินจำลอ เพื่อให้มีการพัฒนาต่อยอดต่อไปในอนาคต” อาจารย์พิศิษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่เด็กชายมนตรี บรรจบ ผู้แทนจากโรงเรียนประเทียบวิทยาทาน จังหวัดสระบุรี ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ การแข่งขันประเภททิ้งสัมภาระลงตรงจุด ประจำปี 2552 กล่าวว่า ตนเองสนใจกีฬาเครื่องบินจำลองและอยากเล่นมานานแล้ว จึงได้ฝึกประดิษฐ์เครื่องบินจำลองด้วยโฟมจากนั้นอาจารย์ก็พาไปซื้ออุปกรณ์เครื่องบินบังคับ แล้วสอนวิธีการประกอบและติดตั้งวิทยุบังคับ การบังคับเครื่องบินเทคนิค และการปรับแก้ปัญหาของเครื่องบิน ซึ่งเครื่องบินลำแรกก็รีบร้อนทำเพราะอยากบินปรากฎว่าบินไม่ดี จึงตั้งสติได้ว่าต้องใจเย็น พอทำเครื่องบินลำที่สองเสร็จสรุปว่าบินดี อาจารย์จึงบอกว่าการที่จะเป็นนักบินที่ดีต้องหมั่นฝึกฝนและทำเครื่องบินให้ดีที่สุด

สำหรับประโยชน์ที่ตนเองได้รับจากการเล่นเครื่องบินนั้นก็คือ การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพิ่มทักษะความชำนาญในการประดิษฐ์เครื่องบิน ห่างจากการมั่วสุม การพนัน ยาเสพติด และเกมส์ต่างๆ มีวินัยในตนเอง รู้จักแบ่งเวลา มีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังได้เพื่อนใหม่ที่เล่นเครื่องบินบังคับจากโรงเรียนต่างๆ และมีสมาธิมากขึ้นในการเรียนหนังสือจนมีเกรดที่ดีขึ้น ขณะที่ทางด้านสังคมก็ยังเป็นการส่งเสริมหรือเผยแพร่กีฬาเครื่องบินจำลองให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น และเป็นการประชาสัมพันธ์โรงเรียนจนเป็นที่ยอมรับของชุมชน

โดยการบินที่ประทับใจมากที่สุดก็คือ แข่งขันชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และประทับใจที่ได้รับถ้วยพระราชทานฯ สร้างความดีใจ ความภาคภูมิใจ สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนและชุมชน และเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ซึ่งกว่าจะได้รางวัลมาก็ฝึกซ้อมอย่างหนักกว่าจะชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ มีระเบียบวินัยในตัวเอง และต้องแบ่งเวลาในการเรียนและการซ้อม ส่วนความใฝ่ฝันบนเส้นทางเครื่องบินจำลอง อยากจะชนะในการแข่งขันในครั้งต่อๆไป และจะขยันฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ เพราะอยากได้ถ้วยพระราชทานฯ อีก และเมื่อเรียนจบแล้วอยากประกอบอาชีพวิศวกรรมอากาศยาน อยากเป็นนักบิน หรือคนออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ ของเครื่องบิน

เด็กชายมนตรี กล่าวต่อว่า “ก่อนที่ผมจะแข่งเครื่องบินบังคับมีความรู้สึกตื่นเต้นมาก ทั้งตื่นคนและตื่นกล้อง เพราะเป็นครั้งแรก แต่ผมก็ทำตัวสบายๆไม่ซีเรียส ผมแข่งเครื่องบินประเภททิ้งสัมภาระตรงจุด สมาชิกทีมผม มี 1.ด.ช.วชิระ รักอิสระ ตำแหน่ง นักบิน ส่วนผม 2.ด.ช.มนตรี บรรจบ ตำแหน่ง คนบอกพิกัดในการทิ้ง 3.ด.ช.สุริยา เอี่ยมคต ตำแหน่ง คนปล่อยเครื่องบิน ในที่สุดวันนี้ผมก็ไม่ผิดหวังเพราะทีมของผมชนะเลิศการแข่งขัน ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และผมขอขอบคุณอาจารย์พิศิษย์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ที่ทำให้โรงเรียนผมได้เป็นที่รู้จัก และอยากชวนเพื่อนๆ มาเล่นกีฬาเครื่องบินจำลอง เพราะเป็นกีฬาที่ฝึกสมาธิ ฝึกทักษะ ได้ความกล้าแสดงออก และได้รับความสามัคคีกับเพื่อนๆ อีกด้วย”

ด้านเด็กชายณัฐพงศ์ รวมพล ผู้แทนจากโรงเรียนวัดบ้านพริก จังหวัดนครนายก ได้รับรางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ การแข่งขันประเภทบินนาน ประจำปี 2552 กล่าวว่า จากการที่ได้เห็นอาจารย์สุริยา จันทร์ประสพโชค นำเครื่องบินไฟฟ้ามาเล่นทำให้สนใจอยากจะบินเครื่องบินให้เป็น เพราะสงสัยว่าเครื่องบินสามารถบินอยู่บนท้องฟ้าได้อย่างไร ทั้งๆ ที่มีน้ำหนักมาก แต่ตนเองไม่มีเงินเพราะทางบ้านมีฐานะยากจน อาจารย์จึงไดชักชวนให้เข้าชมรมเครื่องบินเล็ก เนื่องจากทางสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับได้จัดโครงการหนูน้อยจ้าวเวหาขึ้น โดยมีคติในการฝึกว่า เชื่อฟัง ขยัน อดทน หมั่นฝึกฝน แม้บางครั้งจะเกิดความรู้สึกไม่พอใจที่อาจารย์ดุด่าทำให้เกิดความท้อถอย แต่เมื่อกลับมาทบทวนคำที่อาจารย์บ่นก็พบว่ามันเป็นความจริง จากความท้อถอยจึงเปลี่ยนเป็นความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะให้ได้ จึงอดทน หมั่นฝึกฝน แก้ไข และทำสถิติในการบินทุกครั้ง เพื่อให้รู้พัฒนาการของตนเอง

ทั้งนี้ ประโยชน์จากการเล่นเครื่องบินทำให้สามารถเลิกเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ได้ มีสมาธิในการเรียน มีความรับผิดชอบมากขึ้น ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ได้มีโอกาสไปดูงานที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้พ่อ แม่ สบายใจและภาคภูมิใจ และได้นำความรู้ไปเผยแพร่แก่ผู้อื่นด้วย โดยการบินที่ประทับใจมากที่สุดก็คือ ในรอบชิงชนะเลิศที่หัวหิน เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขันในรายการใหญ่ ซึ่งถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ใครๆ ก็อยากได้ เพื่อเป็นศิริมงคลต่อตนเอง และเป็นเกียรติต่อวงศ์ตระกูล ซึ่งกว่าจะได้รางวัลก็ต้องพบกับอุปสรรคมากมาย ทั้งเรื่องเงินทุนแต่โชคดีที่อาจารย์สุริยาช่วยสนับสนุนทุกอย่าง รวมทั้งมีพ่อ แม่ คอยให้กำลังใจ และอุปสรรคที่สำคัญคือนโยบายของผู้บริหารที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญ แต่เมื่อได้รับรางวัลก็ดีใจ ภูมิใจ หายเหนื่อย และรู้สึกว่าความฝันเป็นจริงแล้ว

นอกจากนี้ ยังได้นำความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์อากาศยานมาใช้ในการเรียนวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องแรง การเคลื่อนที่ของวัตถุ และพลังงานได้เป็นอย่างดี การประยุกต์ใช้ในการทำนา เช่น การทิ้งระเบิดไล่นกในนาข้าว เป็นต้น และสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชม ขณะเดียวกัน สิ่งที่สังคมจะได้รับก็คือเครื่องบินจำลองสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้ในหลายด้าน อาทิ การสำรวจสภาพพื้นที่ในสภาวะต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้ไม่ต้องซื้อจากต่างประเทศที่มีราคาแพง การสร้างความรักความสามัคคีในสังคม เพราะปัจจุบันมีการจัดตั้งชมรมเครื่องบินเกือบทุกจังหวัด

“สำหรับในอนาคตใฝ่ฝันอยากเป็นนักบิน หรือทำงานอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับเครื่องบิน แม้กระทั่งการออกแบบและสร้างเครื่องบินจำลองขาย และอยากเป็นนักกีฬาตัวแทนของประเทศไทยไปแข่งขันเครื่องบินในระดับนานาชาติ ซึ่งอยากชักชวนเพื่อนๆ ให้ลองเล่นกีฬ่าเครื่องบินจำลองดูสักครั้ง เชื่อว่าทุกคนจะได้รับความสนุกสนาน และได้ฝึกสมาธิไปพร้อมกัน โดยหากไม่มีเงินหรือไม่มีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์ ก็สามารถเข้าไปขอคำปรึกษาจากสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับได้ ซึ่งหากเอาจริงเอาจังและหมั่นฝึกฝนก็อาจมีโอกาสได้รับรางวัลเหมือนกับผมก็ได้” ด.ช.ณัฐพงศ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย

ท่านสามารถติดตามข่าวสาร การจัดกิจกรรม คุยกัน..ฉันท์วิทย์ ของกลุ่มงานประชาสัมพันธ์

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ที่http://www.most.go.th/scitalk

ผู้เผยแพร่ข่าว : กมลวรรณ เอมสมบูรณ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

โทร. 0 2333 3700 ต่อ 3732 ,3730

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version