เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553 เวลา 13.00 น . ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม 2-3 โรงแรมแชงกรีล่า ถนนเจริญกรุง ผู้แทนกระทรวงคมนาคมโดยนายประณต สุริยะ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และนายพิเชษฐ์ คุณาธรรมรักษ์ วิศวกรโยธาชำนาญการ ได้ร่วมกันนำเสนอรายละเอียดของการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูง หลังจากนั้นผู้แทนกระทรวงการคลังโดยนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และนายกุลิศ สมบัติศิริ ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สคร. ร่วมกันนำเสนอแนวทางการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรวมทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐในเบื้องต้น พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
นายประณต สุริยะ รอง ผอ.สนข. ได้นำเสนอรายละเอียดโครงการเกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการพัฒนาโครงข่ายระบบรางและการให้บริการรถไฟ ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะเร่งด่วน 176,808 ล้านบาท จากนั้นวันที่ 14 กันยายน 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบให้คณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ PPPs ดำเนินการทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการรถไฟความเร็วสูง และวันนี้ (2 ธันวาคม 2553) รัฐบาลได้จัดการทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการรถไฟความเร็วสูง 2 สายทาง คือกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 754 กม. ผ่าน 11 จังหวัด 13 สถานี ใช้เวลาเดินทางเพียง 3.5 ชม. ค่าโดยสาร 1,200 บาท รองรับผู้โดยสารได้ 34,800 คน-เที่ยว/วัน เงินลงทุน 229,809 ล้านบาท ค่า EIRR : 13.58% ส่วนสายสายตะวันออก กรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 221 กม. ผ่าน 4 จังหวัด 5 สถานี ใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชม. ค่าโดยสาร 350 บาท รองรับผู้โดยสารได้ 13,200 คน-เที่ยว/วัน จำนวนเงินลงทุน 72,265 ล้านบาท และค่า EIRR : 13.05%
ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ผอ. สคร. ได้นำเสนอเกี่ยวกับเหตุผลและความจำเป็นในการดำเนินโครงการถไฟความเร็วสูงด้วยรูปแบบ PPPs ว่าต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ต้องใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ร่วมดำเนินการ ตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างจนถึงการเปิดให้บริการ รวมถึงยกตัวอย่างโครงการสำคัญของระบบขนส่งมวลชนทางรางที่เปิดให้เอกชนร่วมดำเนินการมาแล้ว เช่น โครงการรถไฟฟ้ากรุงเทพมหานคร โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง เป็นต้น นอกจากนี้ยังนำเสนอรูปแบบของการแบ่งรายได้และค่าตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชน การสนับสนุนจากภาครัฐ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูง
ในส่วนของผู้เข้าร่วมงาน ส่วนใหญ่ได้แสดงความคิดเห็นให้เปิดกว้างในการลงทุนให้มีรูปแบบที่หลากหลาย โดยอยากให้ภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมลงทุนมีความตั้งใจและจริงใจที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อให้ประเทศไทยของเราได้ประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับ พรบ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พรบ. ร่วมทุน) ว่าอาจจะเป็นอุปสรรคในการลงทุนในรูปแบบ PPPs ของโครงการนี้ ซึ่งทางผู้แทนจากภาครัฐได้ชี้แจงว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง พรบ. ดังกล่าว โดยยึดหลักของความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และในกฎหมายใหม่จะมีขั้นตอนที่ชัดเจนและกรอบระยะเวลาในขั้นตอนต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถดำเนินการโครงการที่จำเป็นอย่างทันท่วงที หลังจากนี้ หากมีผู้ร่วมลงทุนมีความสนใจหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม หรือมีความประสงค์จะหารือในรูปแบบ Focus Group สามารถติดต่อได้ที่ www.sepo.go.th หรือ 0 2298 5880-9