ปัจจุบันไทยได้รับสิทธิ GSP (Generalised System of Prefereuces : ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป) จากประเทศต่าง ๆ รวม 44 ประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป (27 ประเทศ ) สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ แคนาดา ตุรกี และกลุ่ม CIS (รัสเซียและรัฐอิสระรวม 11 ประเทศ ) โดยประเทศที่ใช้สิทธิ GSP สูง ได้แก่ สหภาพยุโรป (5,763.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สหรัฐฯ (2,688.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ตุรกี (412.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สวิตเซอร์แลนด์ (189.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) แคนาดา (157.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) กลุ่ม CIS (130.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ญี่ปุ่น (94.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) นอร์เวย์ (49.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ตามลำดับ
สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP สูง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องประดับทำจากเงิน ยานยนต์สำหรับขนส่ง ยางเรเดียลรถยนต์นั่ง เลนส์แว่นตา ถุงมือยาง ยางเรเดียลรถบรรทุกเครื่องปรับอากาศ กุ้งแช่แข็ง กุ้งปรุงแต่ง เป็นต้น
หากพิจารณาการใช้สิทธิ GSP ใน 2 ตลาดหลักของไทย เป็นดังนี้ ตลาดสหภาพยุโรป มีมูลค่าใช้สิทธิ GSP คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57.82 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 954.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 19.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่ใช้สิทธิสูงได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่ง เลนส์แว่นตา ถุงมือยาง เครื่องปรับอากาศ กุ้งแช่แข็ง กุ้งปรุงแต่ง และรองเท้าส่วนบนทำจากหนังฟอก เป็นต้น ตลาดสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าใช้สิทธิ GSP คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.51 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 642.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 31.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่ใช้สิทธิสูงได้แก่ เครื่องประดับทำจากโลหะเงิน ยางรถยนต์ ยางรถบรรทุก อาหารปรุงแต่ง ถุงมือยาง เตาอบไมโครเวฟ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น