สธ.เร่งสำรวจไอคิวเด็กไทยทั่วประเทศ รู้ผลต้นปี 54

อังคาร ๑๔ ธันวาคม ๒๐๑๐ ๑๑:๒๘
ผลสำรวจไอคิวทั่วโลก บ่งชี้สัญญาณว่า เด็กไทย ไอคิวต่ำ! วัด 2 ครั้ง ระหว่าง ปี2002-2006 ต่างกัน 4 ปี ไอคิวเด็กไทยยังคงที่ อยู่ที่ระดับ 91 จุด สธ.มอบนโยบายให้กรมสุขภาพจิตเร่งสำรวจไอคิวเด็กไทยทั่วประเทศ รู้ผล มกราคม ปี 54 หวังใช้ข้อมูลเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อพัฒนาสติปัญญาเด็กไทยในเชิงลึก ได้อย่างตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการ “สำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา เด็กไทยปี 2554” ซึ่งกรมสุขภาพจิตร่วมกับกรมพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน ดำเนินการสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทยจำนวนประมาณ 100,000 คน ทั่วประเทศ ว่า ข้อมูลจากหนังสือของ Lynn ปี 2006 ได้ทำการสำรวจIQของเด็กทั่วโลก พบว่า IQ ของเด็กไทยอยู่ที่ประมาณ 91 จัดอยู่ในระดับที่ 53 จาก 192 ประเทศทั่วโลก ซึ่งต่ำกว่าระดับ IQของเด็กในประเทศอื่นๆในเอเชีย เช่น เด็กในประเทศ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม รวมทั้งมาเลเซีย นอกจากนี้ยังพบว่า ตั้งแต่ปี 2002-2006 อันดับ IQ ของเด็กไทยแทบจะไม่มีพัฒนาการที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ระดับ IQ ของเด็กเพิ่มจาก 103 ในปี ค.ศ.2002 เป็น 108 ในปี ค.ศ. 2006 ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เมื่อนำระดับ IQ แสดงผลเป็นกราฟรูประฆังคว่ำ พบว่า IQ ที่ระดับ 91 ของเด็กไทย มีแนวโน้มที่จะเอียงไปทางซ้ายของกราฟ ซึ่งเป็นด้านที่ตรงข้ามกับระดับการแปรผลที่ฉลาดกว่า

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การสำรวจไอคิวของไทยครั้งนี้ยังถือเป็นการสำรวจไอคิวครั้งใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีการสำรวจโดยใช้จำนวนคนมากที่สุดถึงเกือบ 1 แสนคน (93,923 คน) จากเดิมซึ่งมีบางประเทศทำอยู่ที่ 60,000 คนเท่านั้น โดยจะใช้แบบทดสอบ Standard Progressive Matrices Pararell (SPM.) ซึ่งเป็นเครื่องมือทดสอบไอคิวระดับโลก ใช้เวลาทำแบบทดสอบ 40 นาที ทำการสำรวจในเด็กชั้นประถมและมัธยม อายุ 6- 17 ปี ในสถานศึกษาทุกสังกัดในพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 787 โรงเรียนโดยใช้ทีมสหวิชาชีพทั้งนักจิตวิทยาคลินิก และพยาบาลจิตเวช จำนวน 450 คน ทำการจัดเก็บข้อมูลในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งจะทราบผลประมาณเดือน ม.ค.2554 การสำรวจในครั้งนี้จะช่วยให้ได้รายละเอียดทั้งตัวเลขไอคิวเฉลี่ยระดับประเทศ และเจาะลงลึกไปในระดับภาค ระดับจังหวัด และลงลึกถึงระดับพื้นที่ ผลสำรวจครั้งนี้จะทำให้ได้ข้อมูลต่างๆมาวางแผนเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในเชิงลึกได้อย่างตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย ควบคู่กับมาตรการอื่นๆที่จะเพิ่มไอโอดีนเพิ่มไอคิวเพื่อให้เด็กไทยเติบโตและมีพัฒนาการที่สมวัย

การพัฒนาไอคิวมีความสำคัญ คือ ถ้าเด็กมี IQ สูง จะส่งผลให้เติบโตเป็นประชากรที่มีพัฒนาการทางสติปัญญาที่ดี มีความสามารถ และมีศักยภาพส่วนบุคคลสูง ประเทศที่ประชากรมีคุณภาพจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน หากสามารถพัฒนาไอคิวของเด็กไทยให้สูงขึ้นได้ ในอนาคตก็จะทำให้มีความสามารถทางด้านต่างๆเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีความสามารถในการหารายได้ที่ช่วยส่งผลให้ประชากรมีรายได้ต่อหัว (GDP) สูงตามไปด้วย การพัฒนาไอคิวไม่ได้สำคัญต่อเด็กเท่านั้น แต่ยังสำคัญกับทุกเพศทุกวัย เช่น ผู้ใหญ่ก็จะส่งผลต่อการทำงาน มีผลต่อกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งได้ตั้งเป้าไว้ประมาณ 5 ปี คนไทยไอคิวจะเพิ่มขึ้นและมีศักยภาพทางสติปัญญาที่ทัดทียมกับนานาประเทศแน่นอน

ด้าน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า นักจิตวิทยามีความเชื่อว่าสติปัญญาของคนเรามีผลมาจากพันธุกรรม 50 % และมาจากสิ่งแวดล้อม อาหาร การเลี้ยงดูอีก 50 % แต่จากผลสรุปขององค์ประกอบทั้งด้านพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมต่างมีผลด้วยกันทั้งคู่ แต่ที่สำคัญคือ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา 40-50 ปี ยีนของมนุษย์ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ สภาพแวดล้อม ได้แก่ อาหารสมอง (ไอโอดีน นมแม่ สารอาหารที่จำเป็นอื่นๆ) , คนเลี้ยงดี , เลี้ยงดูดี ,สถานที่ดี , การเล่นดี , สื่อดี ซึ่งสิ่งแวดล้อมเหล่านี้จะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับไอคิวที่คนเราสามารถสร้างขึ้นเองได้ หมายความว่า ครอบครัวสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเพิ่มของระดับไอคิวให้กับเด็กได้ เช่น ฝึกให้เด็กคิดเป็น แก้ไขปัญหาเป็น หากครอบครัวมีวิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กไม่ดีเท่าที่ควร และอบรมเลี้ยงดูไม่ดีนัก เช่น เด็กที่ได้รับการตอบสนองจากผู้เลี้ยงดูช้า ปล่อยให้ร้องไห้นานๆ หิวแล้วยังไม่ได้กิน เกิดความกลัวโดยไม่มีใครมาอยู่ใกล้ชิด ไม่มีใครมาสัมผัสโอบอุ้ม เด็กจะกลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตนเอง ไม่มั่นคงในชีวิต หวาดระแวง ฯลฯ และถ้าไม่ฝึกให้เด็กได้คิดและแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองจะทำให้IQ เด็กแตกต่างไปจากครอบครัวที่มีวิธีในการดูแลเลี้ยงเด็กได้ดี จะส่งผลให้เซลล์สมองของเด็กในส่วนที่ไม่ได้ใช้ถูกทำลาย ทำให้ประสิทธิภาพของสมองส่วนนั้นลดลง เช่น ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อาจจะหายไป หมายความว่า การที่ใช้สมองส่วนใดบ่อยๆสมองส่วนนั้นจะเจริญเติบโตได้ดี แต่หากไม่ได้ใช้สมองส่วนนั้นเลย นานๆเข้า สมองส่วนนั้นก็จะฝ่อไป เนื่องจากเราไม่ค่อยกระตุ้นให้เด็กฝึกคิด

นอกจากการเลี้ยงดู ที่เหมาะสมแล้ว อาหารยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อเซลล์สมอง และไอคิวของเด็ก ช่วงระยะเวลาที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของเซลล์สมองของเด็กมากที่สุด คือช่วงขณะที่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ ซึ่งเซลล์ประสาทจะมีการสร้างขึ้นมากกว่าแสนล้านเซลล์ แต่ถ้าไม่มีการกระตุ้นจะด้วยการเสริมอาหาร หรือการดูแลที่เหมาะสมให้กับเด็ก ก็จะขาดเครือข่ายเส้นใยประสาทที่ยื่นยาวออกมา ซึ่งเส้นใยเหล่านี้พร้อมจะส่งเสริมให้เด็กๆฉลาดและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่เพิ่มขึ้น นพ.อภิชัย กล่าว

?

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 025908409 ประชาสัมพันธ์ สำนักสุขภาพจิตสังคม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม