การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ SCBL สะท้อนถึงระดับของการร่วมดำเนินงานที่สูงขึ้นระหว่าง SCBL กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบัน ฟิทช์ให้อันดับเครดิตที่ ‘AA(tha)’ / แนวโน้มมีเสถียรภาพ / F1+(tha)) ซึ่งทำให้อันดับเครดิตของ SCBL สามารถปรับเข้าใกล้กับอันดับเครดิตของ SCB มากขึ้น เพื่อเป็นการดำเนินตามนโยบายของ SCB ในการขยายสินเชื่อรายย่อย SCBL ได้โอนธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายใหม่ไปให้ทาง SCB รับผิดชอบ โดย SCBL ได้หันมาดำเนินธุรกิจ การให้บริการเรียกเก็บลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ของ SCB ที่ผิดนัดชำระมาเกินกว่า 60 วัน และยังมีลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ของบริษัทเองที่ยังคงเหลืออยู่ นอกจากนี้ SCB ยังดูแลในด้านการบริหารเงินให้แก่ SCBL และยังให้การสนับสนุนในด้านอื่นด้วย อาทิเช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบบัญชี การบริหารทรัพยากรบุคคล และการตรวจสอบภายใน
อันดับเครดิตของ SCBL สะท้อนถึงการที่ SCB เป็นผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจบริหาร การเปลี่ยนแปลงใดๆในการถือหุ้นของ SCB ใน SCBL รวมทั้งนโยบายการสนับสนุนของ SCB ที่มีต่อ SCBL อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBL ได้ การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตภายในประเทศของ SCB อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBL เช่นกัน
SCBL มีผลประกอบการที่แข็งแกร่งในครึ่งแรกของปี 2553 ถึงแม้ว่าสินเชื่อเช่าซื้อจะอยู่ในช่วงที่ลดลง SCBL มีจำนวนของสินเชื่อเช่าซื้อของบริษัทลดลงอย่างมากที่ระดับ 2.6 หมื่นล้านบาท จากระดับ 3.5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 และระดับ 5.9 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 SCBL ยังมีกำไรสุทธิปรับตัวสูงขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาที่ระดับ 627.4 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากปริมาณการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงในช่วงที่มีการลดลงของสินเชื่อเช่าซื้อ SCBL มีอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 7.1% ในครึ่งแรกของปี 2553 จากระดับ 5.0% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของต้นทุนการเงิน ROA (อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ต่อปี) และ ROE (อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นต่อปี) อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 3.8% และ 11.6% ตามลำดับในช่วงครึ่งแรกของปี 2553
สินเชื่อด้อยคุณภาพ (รวมประเภทของลูกหนี้เช่าซื้อที่บอกเลิกสัญญา) ลดลงมาที่ระดับ 1.6 พันล้านบาท (4.7% ของสินเชื่อทั้งหมด) ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปี 2553 จากระดับ 2.0 พันล้านบาท (3.6% ของสินเชื่อทั้งหมด) ณ สิ้นปี 2552 และระดับ 2.8 พันล้านบาท (3.6% ของสินเชื่อทั้งหมด) ณ สิ้นปี 2551 อัตราส่วนของการสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำที่ 59% ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปสินเชื่อประเภทเช่าซื้อรถยนต์จะมีอัตราของหนี้ที่ได้รับชำระคืนหลังตัดเป็นหนี้สูญสูงกว่า 50%
ความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องและด้านเงินทุนได้ถูกลดทอนลงจากการสนับสนุนจาก SCB ปัจจุบัน SCBL มีแหล่งของเงินทุนหลักเป็นวงเงินระยะสั้นไม่เกิน 1.7 หมื่นล้านบาทจาก SCB (โดยมียอดที่เบิกใช้ไปแล้วอยู่ที่ 1.54 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553) SCBL ยังมีระดับของเงินทุนที่แข็งแกร่งถึงแม้ว่าจะมีการจ่ายเงินปันผลที่สูงในครึ่งแรกของปี 2553 อัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์แข็งแกร่งขึ้นโดยมาอยู่ที่ 38% ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปี 2553 เทียบกับ 29% ณ สิ้นปี 2552 โดยเป็นผลจากการลดลงของสินทรัพย์รวม
SCBL ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2519 เพื่อให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อประเภทรถยนต์ ในระหว่างปี 2549-50 SCB ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน SCBL เป็น 99% จาก 22% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินแผนขยายเครือข่ายธุรกิจสินเชื่อรายย่อยของธนาคาร SCB เป็นธนาคารใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศและจัดเป็นหนึ่งในธนาคารที่แข็งแกร่งที่สุด
ติดต่อ
Primary Analyst
วสันต์ ผลเจริญ
Director
+662 655 4758
บริษัท ฟิทช์เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
55 ถนน วิทยุ ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
Secondary analyst
Vincent Milton
Senior Director
+662 655 4759
กรุงเทพฯ
Committee Chairperson
Jonathan Lee
Senior Director
+886 2 8175 7601